ลักษณะนั้นแสดงว่าสมาธิทรงตัวเป็นอัปปนาสมาธิแล้ว พูดง่าย ๆ ก็คือทรงฌานได้ คราวนี้การทรงฌานนั้นจิตกับประสาทจะแยกเป็นคนละส่วนกัน ถ้าขาดความชำนาญจะบังคับร่างกายไม่ได้ เหมือนกับคนนั่งหลับหรือว่านั่งแข็งทื่อไปเฉย ๆ คราวนี้เขาไม่รู้ว่าการที่ตัวเองตั้งใจขับรถนั่นคือสมาธิ ด้วยความเคยชินพอจิตเข้าสมาธิก็วิ่งไปในระดับที่ตัวเองทำได้สูงสุด ก็เลยนั่งแข็งทื่อ
ถ้าเขาซักซ้อมการเข้าออกสมาธิเอาไว้ ก็จะสามารถคลายออกมาเพื่อทำหน้าที่ปกติได้ แต่คราวนี้เขาไม่เข้าใจตรงนั้น ก็เลยใช้คำว่าต้องเขย่าให้หลุด ก็คือเขย่าตัวเองให้สมาธิคลายแล้วค่อยขับรถต่อ ขับไปอีกหน่อยก็แข็งทื่ออีก ต้องเขย่าใหม่
ต่อไปบุคคลนี้จะมีความคล่องตัวในการเข้าออกสมาธิมาก ก็คือทรงวสี ๕ ได้อย่างน้อย ๒ ตัว คือสมาปัชชนวสี..ชำนาญในการเข้าสมาธิ และวุฏฐานวสี..ชำนาญในการออกจากสมาธิ ซึ่งวสียังมีอีก ๓ ตัว ก็คือ ชำนาญในการเข้าสมาธิตามลำดับ ชำนาญในการเข้าสมาธิตามเวลาที่กำหนดไว้ และชำนาญในการเข้าสมาธิสลับระหว่างระดับฌานได้
ถ้าใครซักซ้อมคล่องตัวขนาดนั้น อยู่ในอิริยาบถไหนก็ทรงฌานได้ สามารถทรงฌานได้ก็จะปราศจากรัก โลภ โกรธ หลง ชั่วคราว ขอย้ำคำว่า "ชั่วคราว" เพราะว่าอำนาจฌานสมาบัติสามารถระงับรัก โลภ โกรธ หลง ลงได้ แต่ถ้าสมาธิหลุดเมื่อไร รัก โลภ โกรธ หลง จะมาเป็นฟ้าถล่มดินทลาย เพราะว่าก่อนหน้านี้เราไปเก็บกดเอาไว้
จึงมีหลายต่อหลายท่านที่กลัวหรือว่าเข็ดการเข้าสมาธิไปเลย เนื่องเพราะกลัวว่ากิเลสจะตีกลับ ซึ่งความจริงกิเลสมีเท่าเดิม พอโดนอำนาจสมาธิกดไปนาน ๆ กิเลสกลัวว่าตัวเองจะตายก็ต้องสู้สุดชีวิต อาการที่แสดงออกจึงรุนแรงกว่าปกติ อย่างเช่นว่าบางคน เพื่อนพูดอะไรไม่เข้าหูหน่อยเดียว ก็ด่าเขาสาดเสียเทเสียไปเลย แล้วคนอื่นก็จะงงว่า "นี่หรือผู้ปฏิบัติธรรม..!? สะกิดหน่อยเดียวทำไมถึงอารมณ์แรงขนาดนี้ ?" โดยที่ไม่รู้ว่าไปสะกิดผิดจังหวะ
__________________
........................
เกิดมาทั้งที เอาดีให้ได้ ตายไปทั้งที ฝากดีเอาไว้ อยู่ให้เขาเกรงใจ ไปให้เขาคิดถึง
จะเช มัตตา สุขังธีโร ปัญญาชน พึงสละสุขส่วนตน เพื่อสุขยิ่งใหญ่ของส่วนรวม
|