ในขณะเดียวกัน แม้ว่าจะอยู่ประจำที่ใดที่หนึ่งตลอดพรรษาก็ดี องค์สมเด็จพระธรรมเสนาบดีก็ยังมีพระบรมพุทธานุญาตว่า ถ้าพระภิกษุสงฆ์มีกิจสำคัญในช่วงเข้าพรรษา สามารถไปได้ แต่ไม่เกิน ๗ วัน เรียกว่า "สัตตาหะกรณียะ" ซึ่งพระองค์ท่านระบุเอาไว้ชัดเจนว่า
๑) พ่อป่วย แม่ป่วย พระอุปัชฌาย์อาจารย์ป่วย สามารถลาไปช่วยดูแลรักษา แต่ต้องกลับมายังที่จำพรรษา โดยไม่ให้พ้นวันที่ ๗ ไป
๒) วัดพัง ไปหาทัพสัมภาระมาเพื่อซ่อมวัด ซึ่งสมัยก่อนการก่อสร้างก็ไม่แข็งแรงเหมือนสมัยนี้ เมื่อเจอพายุบ้าง เจอฝนตกหนักบ้าง กระท่อมทับต่าง ๆ ที่พักจำพรรษาอยู่อาจจะพังทลายลง ทรงมีพุทธานุญาตให้พระไปหาไม้ หาบรรดาหญ้าคา ตลอดจนกระทั่งเถาวัลย์ มาทำการซ่อมแซมอาคารนั้นได้ แต่ต้องไปไม่เกิน ๗ วัน
๓) มีกิจนิมนต์ต้องไปเจริญศรัทธา สมัยก่อนส่วนใหญ่ก็เดินเท้าไป เมื่อเดินเท้าไป จะกลับมาภายในวันเดียวก็ยาก ตัวอย่างก็คือ หลวงปู่จง พุทฺธสโร วัดหน้าต่างนอก เมื่อถึงเวลาญาติโยมนิมนต์ไป จากอยุธยา..ไปลพบุรีบ้าง ไปสิงห์บุรีบ้าง เหล่านี้เป็นต้น เมื่อถึงเวลาโยมแถวนั้นเห็นครูบาอาจารย์ที่ตนเคารพนับถือ มาถึงใกล้บริเวณบ้านแล้ว ก็นิมนต์ต่อไปเรื่อย จนกระทั่งกำนันเถา กำนันประจำตำบลบางนมโค ต้องเอาเกวียนไปรับหลวงปู่จงกลับวัด ไม่เช่นนั้นแล้วก็อาจจะเกิน ๗ วันได้
ญาติโยมจะเห็นว่าถ้าพ่อป่วย แม่ป่วย ครูบาอาจารย์ป่วย องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าให้พระไปแสดงความกตัญญูได้ ถ้าวัดพัง มีหน้าที่จะต้องซ่อมต้องสร้างให้ดี อนุญาตให้ไปหาทัพสัมภาระไปซ่อมสร้างวัดได้ ทายกมีจิตศรัทธานิมนต์ ถ้าเป็นระยะทางไกล สามารถที่จะไปเพื่อที่จะฉลองศรัทธาได้
แก้ไขครั้งสุดท้ายโดย สุธรรม : วันนี้ เมื่อ 09:33
|