พวกเราวิ่งมาลงทางด่วนที่เมืองจางเยว่ ตรงไปที่วัดจางเยว่ต้าฝอ ซึ่งเป็นวัดโบร่ำโบราณสร้างมา ๙๘๒ ปีแล้ว ไม่ว่าจะเป็นราชวงศ์หมิง ราชวงศ์ชิง ก็มีพระมหากษัตริย์เสด็จมาทะนุบำรุงวัดนี้ เป็นวัดที่มีหลวงพ่อพระพุทธไสยาสน์ในร่มองค์ใหญ่ที่สุด ซึ่งกระผม/อาตมภาพก็ไม่แน่ใจเหมือนกัน เพราะว่าไปพบพระพุทธพระพุทธไสยาสน์ที่ใหญ่กว่านี้ หรือว่าใหญ่ขนาดนี้มาแล้ว และก็อยู่ในร่มด้วยเช่นกัน
เพียงแต่ว่าคุณโบตั๋นบอกว่าห้ามถ่ายรูป แต่นักท่องเที่ยวทุกคนก็ถ่ายกันหน้าตาเฉย จนกระทั่งวนรอบตัววิหารใหญ่แล้ว ก็ออกมายังวิหารรองและพระเจดีย์ ตลอดจนกระทั่งร้านขายของที่ระลึก พวกเราได้ชมกระทั่งพิพิธภัณฑ์ของทางวัด ซึ่งเก็บของเก่าเอาไว้มากมาย แล้วก็ไม่หวง มีปัญญาถ่ายรูปได้ก็ถ่ายไป..!
จนกระทั่งทุกคนไร้แรงบินกันดีแล้ว ก็เข้าห้องน้ำของทางวัด แล้วกลับขึ้นรถ วิ่งไปไม่กี่นาทีก็มายังถนนคนเดินเมืองจางเยว่ ซึ่งเป็นถนนคนเดินโบร่ำโบราณที่บริเวณประตูเมืองเก่า ปล่อยให้พวกเราลงไปใช้เวลาช็อปปิ้ง ๑ ชั่วโมง โดยที่กระผม/อาตมภาพบอกว่าต้องตรงเวลาด้วย เพราะว่าวันนี้ กระผม/อาตมภาพจะต้องเรียนวิชาพระไตรปิฎกศึกษาเพิ่มเติมออนไลน์อีก ๓ ชั่วโมง พวกเราจึงกลับมากันตรงเวลามาก แล้วก็มุ่งตรงไปยังโรงแรมที่พักของคืนนี้
พวกเราเมื่อมาถึงแล้ว กระผม/อาตมภาพก็งงเป็นอย่างยิ่ง เพราะว่าห้องพักของตนอยู่ชั้น ๖ แต่กดลิฟท์แล้วปรากฏว่ามาอยู่ชั้น ๘ คุณดาหวัน (นางสาวเพชรดาวัลย์ พัสลุผล) กับคุณพอร์ชลูกชายก็งง ๆ อยู่เหมือนกัน ท้ายที่สุด พวกเราก็ลองเอาคีย์การ์ดไปแปะประตูดูก่อน ปรากฏว่าเปิดได้เสียอีก..! ในเมื่อเป็นเช่นนั้น จึงฟันธงว่าเจ้าของโรงแรมน่าจะ "บ้าเลขมงคล" ก็คือเลข ๘ จึงได้เอาเลข ๘ มาไว้หน้าห้องของชั้น ๖ ทุกห้อง..!
เมื่อเข้าห้องมาได้แล้ว รู้สึกว่า "รับประทานแห้ว" แน่นอน เนื่องเพราะว่าวันนี้ไม่มีอ่างแช่น้ำร้อนให้ จึงมาบันทึกเสียงธรรมจากวัดท่าขนุนนี้เอาไว้ก่อน เมื่อส่งเรียบร้อยแล้วก็ต้องเข้าระบบ Zoom Meeting Online เพื่อศึกษาวิชาพระไตรปิฎกศึกษากันต่อไป
สำหรับวันนี้ก็ขอเรียนถวายพระภิกษุสามเณรของเรา และบอกกล่าวแก่ญาติโยมแต่เพียงเท่านี้
พระครูวิลาศกาญจนธรรม, ดร.
เสียงธรรมจากวัดท่าขนุน
วันเสาร์ที่ ๒๑ มิถุนายน พุทธศักราช ๒๕๖๘
(ถอดจากเสียงเป็นอักษร โดย เผือกน้อย)
__________________
........................
เกิดมาทั้งที เอาดีให้ได้ ตายไปทั้งที ฝากดีเอาไว้ อยู่ให้เขาเกรงใจ ไปให้เขาคิดถึง
จะเช มัตตา สุขังธีโร ปัญญาชน พึงสละสุขส่วนตน เพื่อสุขยิ่งใหญ่ของส่วนรวม
แก้ไขครั้งสุดท้ายโดย สุธรรม : 22-06-2025 เมื่อ 02:53
|