สงกรานต์จึงเข้ามาในบ้านเราเมืองเราโดยวัฒนธรรมอินเดีย โดยมักจะมากับพวกนักบวชที่ติดไปกับกองคาราวานทางบกทางน้ำต่าง ๆ ที่เขาเรียกกันว่าพราหมณ์ พวกนี้ส่วนใหญ่มีความรู้มาก ศึกษาจบไตรเพทมา มีฤคเวท ยชุรเวท สามเวท เหล่านั้น
พวกเวททั้งหลายเหล่านี้จริง ๆ ก็คือคำโคลง คำกลอน ที่เขาไว้สรรเสริญพระเจ้าของเขา เอาไว้สำหรับอ้อนวอนขอความสำเร็จจากพระเจ้าของเขา เขาก็ถ่ายทอดกันเฉพาะในวรรณะของตัวเอง พวกพราหมณ์ก็เลยเป็นเจ้าพิธีกรรม พวกกษัตริย์ก็มีหน้าที่ป้องกันประเทศ รบรากับประเทศอื่น ๆ
พวกไวศยะหรือแพศย์ ซึ่งปัจจุบันนี้มียี่ห้อสินค้าแพศยา นั่นก็คือคำว่าแพศย์ที่แปลว่าพ่อค้า ก็มีหน้าที่ค้าขายนำเอาวัฒนธรรมต่าง ๆ เผยแผ่ไปกับกองเกวียนของตนเอง กองเกวียนสมัยก่อนไปกันแต่ละทีก็ ๒๐๐ เล่มเกวียน ๓๐๐ เล่มเกวียน ๕๐๐ เล่มเกวียน บรรดาพ่อค้าส่วนใหญ่ก็เป็นมหาเศรษฐี เรานึกถึงเกวียน ๑ เล่ม มีคนขับเกวียน ๑ คน คนคอยดูแลวัวดูแลสินค้า ๒ คน ตีว่าเอาแค่นี้ เกวียน ๑ เล่มมี ๓ คน ถ้ามีเกวียน ๕๐๐ เล่มปาไปกี่คนแล้ว ? กองทัพส่วนตัวดี ๆ นี่เอง..!
อย่างธนัญชัยเศรษฐีถึงเวลาย้ายไปอยู่เมืองสาวัตถี ปรากฏว่าขนคนไปสองแสนคน..! แทบจะไปรบราฆ่าฟัน แย่งบ้าน ปล้นเมืองเขาได้เลยนะนั่น..! ยังดีที่ไม่ได้มีนิสัยอย่างนั้น เป็นแค่พ่อค้า ก็เลยทำให้คิดว่าถ้าเข้าไปในตัวเมือง คนอื่นจะเดือดร้อนเยอะ เพราะอยู่ ๆ มีสองแสนคนมาแย่งกันกินแย่งกันใช้
ธนัญชัยเศรษฐีเห็นที่เหมาะ ๆ อยู่ก่อนที่จะเข้าเมือง เป็นที่ว่างกว้างใหญ่มาก จึงกราบทูลถามพระเจ้าปเสนทิโกศลว่า "ตรงนี้เป็นที่ของใคร ?" แล้วก็ให้เหตุผลว่าถ้าเข้าไปในเมืองจะสร้างความวุ่นวายขนาดไหน ? แต่ถ้าอยู่ตรงนี้จะสะดวกกว่า
พระเจ้าปเสนทิโกศลบอกว่าเป็นที่ของตนเอง สมัยนั้นใช้คำว่า "พระเจ้าแผ่นดิน" คือแผ่นดินทุกตารางนิ้วถ้าไม่ทรงอนุญาต เป็นของพระองค์ทั้งหมด เพราะว่า รบรา ฆ่าฟัน แย่งชิง ป้องกัน มาด้วยตนเอง พระเจ้าปเสนทิโกศลจึงมอบให้ธนัญชัยเศรษฐี สร้างเมืองสาเกตขึ้นมาเป็นคู่แฝดกับสาวัตถี ไปไกลแล้ว..อยู่เมืองไทยยังไม่ค่อยจะรู้เรื่องเลย ไปไกลถึงอินเดียแล้ว..!
เวลาไปไหนไม่ค่อยอยากคุยเพราะว่าเหนื่อยอยู่คนเดียว ถึงเวลาไม่มีแรงจะเดินเที่ยว คุณนวลจันทร์ เพียรธรรม ของเอ็นซีทัวร์ ก็มักจะส่งไมค์มาให้ "หลวงพ่อเจ้าคะ เอาเรื่องโน้นหน่อย เอาเรื่องนี้หน่อย" ไม่เอา..ตอนนี้เที่ยวอย่างเดียว เล่ามาก ๆ คนแก่หมดแรง เดินไม่ไหว..!
__________________
........................
เกิดมาทั้งที เอาดีให้ได้ ตายไปทั้งที ฝากดีเอาไว้ อยู่ให้เขาเกรงใจ ไปให้เขาคิดถึง
จะเช มัตตา สุขังธีโร ปัญญาชน พึงสละสุขส่วนตน เพื่อสุขยิ่งใหญ่ของส่วนรวม
แก้ไขครั้งสุดท้ายโดย สุธรรม : 29-04-2025 เมื่อ 01:25
|