ดูแบบคำตอบเดียว
  #4  
เก่า 28-04-2025, 23:33
เถรี's Avatar
เถรี เถรี is offline
ผู้ดูแลเว็บ - ยืนยันตัวตนแล้ว
 
วันที่สมัคร: Jan 2009
ข้อความ: 32,377
ได้ให้อนุโมทนา: 157,932
ได้รับอนุโมทนา 4,479,211 ครั้ง ใน 35,986 โพสต์
เถรี is on a distinguished road
Default

สำหรับวันนี้ มาว่ากล่าวถึงเรื่อง "เล่าความหลัง" กันต่อ เมื่อวานได้กล่าวถึงเรือข้าว เรือทราย ซึ่งใช้ในการบรรทุกข้าวเปลือก และบรรทุกทรายสำหรับการก่อสร้าง แม่น้ำสวนแตงในเขตจังหวัดสุพรรณบุรีนั้น ในช่วงที่กระผม/อาตมภาพเด็ก ๆ กว้างใหญ่มาก เพราะว่าต้องขุดลอกเพื่อให้เรือข้าววิ่งได้ เนื่องเพราะว่าสุพรรณบุรีเป็นอู่ข้าวอู่น้ำแห่งหนึ่งของประเทศไทย

แต่ว่าในปัจจุบันนี้ตื้นเขินเสียจนแทบจะกระโดดข้ามได้อยู่แล้ว เพราะว่าเมื่อมีทางรถยนต์ และการรถยนต์ใช้ในการขนส่ง มีความคล่องตัวมากกว่า จึงทำให้บรรดาการขนส่งทางน้ำที่เชื่องช้า ไม่ทันใจ ค่อย ๆ หมดไป กลายเป็นการขนส่งทางบกโดยรถยนต์แทน

การขนส่งทางน้ำนั้นเป็นการกำเนิดภาษิตคำว่า "ช้าเป็นเรือเกลือ" เนื่องเพราะไม่ว่าจะเป็นเรือข้าว เรือทราย หรือว่าเรือเกลือนั้น บรรทุกสิ่งของที่มีน้ำหนักมาก กินน้ำลึกมาก แต่ลากจูงด้วยเรือโยงเล็ก ๆ เท่านั้น ในเมื่อเป็นเช่นนั้น จึงทำให้ไปได้ช้า แล้วมาคิดถึงที่พระเดชพระคุณหลวงพ่อฤๅษีฯ ท่านเปรียบบุคคลบางประเภท ที่ฝึกกรรมฐานแล้วได้ยากได้เย็นหนักหนา ว่าเป็นการ "เข็นเรือทรายบนบก"..!

เราท่านลองนึกดูว่าในน้ำยังไปช้าขนาดนั้น เพราะน้ำหนักมากมายมหาศาล แล้วไปเข็นบนบก โอกาสที่จะไปได้นั้นมีหรือไม่ ? ก็ต้องบอกว่าโบราณช่างเข้าใจเปรียบเทียบ อะไรที่เชื่องช้าไม่ทันใจ เขาก็จะใช้คำว่า "ช้าเป็นเรือเกลือ" ไปเลย

อีกอย่างหนึ่งก็คือเรื่องของการเดินทาง - การหากินทางน้ำนั้น แม้แต่วัดท่าขนุนสมัยก่อนก็ยังเป็นท่าน้ำสำหรับบุคคลขึ้นลง และมีต้นขนุนอยู่หลายต้น จนกระทั่งกระผม/อาตมภาพมาเป็นเจ้าอาวาสแล้ว ถึงได้ช่วยปรับปรุงศาลาท่าน้ำ ซึ่งมีป้ายวัดท่าขนุน หันเข้าหาแม่น้ำแควน้อยอยู่ กลายเป็นศาลเจ้าที่ ซึ่งปัจจุบันนี้ลูกปุ๊ก (นางสาวสุมาลี ตีรเลิศพานิช) อาศัยเป็นที่พักอยู่

เพราะกระผม/อาตมภาพถือนโยบายที่หลวงพ่อฤๅษีฯ วัดท่าซุงท่านบอกเอาไว้ ก็คือการสร้างศาลเป็นการเคารพต่อเทวดา เมื่ออัญเชิญท่านขึ้นศาลแล้วก็ให้ขออนุญาตท่านใช้งานศาลนั้นด้วย ดังนั้น..หลวงพ่อท่านจึงให้สร้างศาลอยู่ในลักษณะเป็นกุฏิหลังใหญ่ไปเลย แบ่งสันปันส่วนในเขตที่จะตั้งสิ่งแสดงออกซึ่งความเคารพต่อเจ้าที่ ส่วนที่เหลือ เราก็ได้ใช้งานตามปกติ ตัวศาลก็ไม่ทรุดโทรม การใช้ประโยชน์ก็จะได้มีมากขึ้นไป
อีกด้วย
__________________
........................

เกิดมาทั้งที เอาดีให้ได้ ตายไปทั้งที ฝากดีเอาไว้ อยู่ให้เขาเกรงใจ ไปให้เขาคิดถึง

จะเช มัตตา สุขังธีโร ปัญญาชน พึงสละสุขส่วนตน เพื่อสุขยิ่งใหญ่ของส่วนรวม

แก้ไขครั้งสุดท้ายโดย สุธรรม : 29-04-2025 เมื่อ 01:06
ตอบพร้อมอ้างอิงข้อความเดิม
สมาชิก 26 คน ได้กล่าว "อนุโมทนา" กับคุณ เถรี ในข้อความที่เขียนด้านบน
แสดง/ซ่อน รายชื่อผู้อนุโมทนา