ธรรมขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าจะมีประโยชน์น้อย ถ้าหากว่าเราไม่สามารถเอามาปรับใช้กับชีวิตประจำวันได้แต่ว่าจะมีประโยชน์อย่างมากมายมหาศาล และเสริมความก้าวหน้าในการปฏิบัติอย่างยิ่ง ถ้าเรารู้จักเอามาปรับใช้กับชีวิตประจำวันของเรา จึงเป็นเรื่องที่เราท่านทั้งหลายต้องศึกษาเรียนรู้ให้ดี
เริ่มตั้งแต่สีลสิกขา การศึกษาเรียนรู้ในศีลว่ามีคุณงามความดีอย่างไร ? นำเราไปสู่สุคติอย่างไร ? เป็นสมบัติที่ทำให้เรามั่นคงอยู่ในความเป็นมนุษย์และเทวดาอย่างไร ? เป็นบันไดให้เราก้าวล่วงจากกองทุกข์เข้าสู่พระนิพพานอย่างไร ?
จิตสิกขา ศึกษาในเรื่องของสมาธิ ว่าทำให้เราสามารถระงับ รัก โลภ โกรธ หลง ในเบื้องต้นได้อย่างไร ? ช่วยให้เราหักห้ามตนเองไม่ให้ตกลงไปในทางที่ชั่วได้อย่างไร ? เป็นเครื่องช่วยปัญญาในการตัดละกิเลสได้อย่างไร ?
แล้วก็ปัญญาสิกขา ศึกษาในเรื่องของปัญญา มองให้เห็นความเป็นจริงของร่างกายนี้ มองให้เห็นความเป็นจริงของโลกนี้ มองให้เห็นความเป็นจริงของสิ่งทั้งปวงว่า เกิดในเบื้องต้น เปลี่ยนแปลงไปในท่ามกลาง และสลายไปในที่สุด ไม่มีอะไรให้เรายึดถือมั่นหมายได้ ยึดเมื่อไรก็ทุกข์เมื่อนั้น ยึดมากก็ทุกข์มาก ยึดน้อยก็ทุกข์น้อย ปล่อยวางไม่ยึดก็พ้นทุกข์
เพียงแต่ว่าสิ่งทั้งหลายเหล่านี้ต้องอาศัยมัชฌิมาปฏิปทา ความพอเหมาะพอดีพอควร ไม่มากเกินไป ไม่น้อยเกินไป อย่างที่องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้ากล่าวว่า "เราไม่เพียร แต่เราไม่พัก" ก็คือไม่ขยันจนเกินพอดี แต่ก็ไม่ขี้เกียจจนไม่ทำอะไรเลย
__________________
........................
เกิดมาทั้งที เอาดีให้ได้ ตายไปทั้งที ฝากดีเอาไว้ อยู่ให้เขาเกรงใจ ไปให้เขาคิดถึง
จะเช มัตตา สุขังธีโร ปัญญาชน พึงสละสุขส่วนตน เพื่อสุขยิ่งใหญ่ของส่วนรวม
แก้ไขครั้งสุดท้ายโดย สุธรรม : 25-04-2025 เมื่อ 03:12
|