คุณครูก็จะหาวันเกิด หาเวลาเกิด ส่วนใหญ่วันเกิดนั้นบางทีก็สมมติกันไปเรื่อย อย่างเช่นว่า "เกิดตอนขนข้าวขึ้นยุ้ง" ก็แปลว่าจะเกิดประมาณปลายเดือนมีนาคม คุณครูก็จะลงวันที่ว่าเลยวันที่ ๒๐ มีนาคมไปแล้ว อย่างเช่นว่า ๒๑ หรือ ๒๒ มีนาคม เป็นต้น หรือไม่ก็ "เกิดตอนฝนชะช่อมะม่วงตก" ก็มักจะอยู่ปลายเดือนมีนาคมหรือว่าต้นเมษายน ถ้าหากว่า "เกิดหน้าน้ำหลาก" ก็มักจะอยู่ช่วงเดือนพฤศจิกายน ต้องบอกว่าครูและผู้ใหญ่บ้านสมัยนั้นมีความสามารถพิเศษ ในการที่จะกำหนดจดจำ แล้วก็หาวันเดือนปีเกิดให้กับเด็ก ๆ จนได้..!
แต่ว่าโยมแม่ของกระผม/อาตมภาพนั้นจดจำแม่นเป็นพิเศษ ทั้ง ๆ ที่มีลูกถึง ๑๓ คน แต่ละคนเกิดวันเดือนปีเกิดอะไรจะจำได้หมด แต่ว่าจำเป็นแบบจีน จึงต้องมีกำนันซึ่งมีเชื้อสายจีนมาแปลกลับเป็นภาษาไทยให้คุณครูได้รู้ วันเดือนปีเกิดของพวกกระผม/อาตมภาพจึงค่อนข้างที่จะแน่นอนว่าถูกต้อง
เพียงแต่ว่าบางบ้านนั้นก็ "แจ้งเกิดช้า" ในเมื่อแจ้งเกิดช้า บางทีอายุจริงไป ๓ ขวบ ๕ ขวบแล้ว แต่ว่านายทะเบียนลงให้เป็นวันนั้นไปเลย จึงทำให้คนโบราณนั้น บางทีวันเดือนปีเกิด กับสิ่งที่ปรากฏอยู่ในทะเบียนบ้านนั้นไม่ได้ตรงกัน ไปก่อปัญหาให้ทีหลังหลายอย่างเหมือนกัน อย่างเช่นว่าไปเจอคนซื่อตรงเข้า พอถึงเวลาไม่รู้ว่าวันเดือนปีเกิด ตามหลักฐานของตนเองคืออะไร ? ก็บอกวันเดือนปีเกิดที่แท้จริงไป ทำเอาเสมียนอำเภอ หรือว่านายทะเบียนปวดหัวไปตาม ๆ กัน เป็นเรื่องขบขันที่หัวเราะไม่ออกของคนสมัยนั้นทีเดียว..!
สำหรับวันนี้ก็ขอเรียนถวายพระภิกษุสามเณรของเรา และบอกกล่าวแก่ญาติโยมแต่เพียงเท่านี้
พระครูวิลาศกาญจนธรรม, ดร.
เสียงธรรมจากวัดท่าขนุน
วันอังคารที่ ๒๒ เมษายน พุทธศักราช ๒๕๖๘
(ถอดจากเสียงเป็นอักษร โดย เผือกน้อย)
__________________
........................
เกิดมาทั้งที เอาดีให้ได้ ตายไปทั้งที ฝากดีเอาไว้ อยู่ให้เขาเกรงใจ ไปให้เขาคิดถึง
จะเช มัตตา สุขังธีโร ปัญญาชน พึงสละสุขส่วนตน เพื่อสุขยิ่งใหญ่ของส่วนรวม
แก้ไขครั้งสุดท้ายโดย สุธรรม : 23-04-2025 เมื่อ 01:24
|