สถานที่หนึ่งซึ่งกระผม/อาตมภาพเจอเข้า ก็คือโคนกอไผ่สีสุก กอไผ่สีสุกนั้นเป็นไม้ไผ่หนาม ถึงเวลาบรรดารุ่นลุง รุ่นอา หรือว่ารุ่นพ่อ เขาก็จะเลาะหนามเข้าไป อยู่ในลักษณะ "ช่องหมาลอด" ก็คือพอดีตัว แล้วก็เอาเสียมไปขุดแถวโคนกอไผ่เป็นหลุม ซ่อนไหใส่น้ำตาลเมาเอาไว้ในนั้น แล้วนำเอาแขนงไผ่หนามเหล่านั้น มารวมกันเป็นก้อน ใช้เถาวัลย์มัดแล้วดึงเข้าไปปิด ถึงเวลาจะออกมาค่อยถีบเปิดออกมา เพื่อป้องกันไม่ให้สรรพสามิตเข้าไปจับได้..!
หนามไผ่นั้นสามารถที่จะป้องกันได้ทั้งคนและสัตว์ร้าย ท้ายที่สุดก็ป้องกันเจ้าหน้าที่ด้วย จึงมีการปลูกกอไผ่ล้อมเป็นรั้วบ้าน ใครมีที่ดินอยู่ตรงไหนก็มักจะปลูกกอไผ่ไว้ตามแนวที่ดินของตน แต่ว่ากอไผ่นั้นมีอันตรายอยู่อย่างหนึ่ง ก็คือพอหน้าแล้ง ใบไผ่ร่วงมาก ๆ ถ้าหากว่าเผลอก็อาจจะมีไฟไหม้ ถ้าแนวกอไผ่ใกล้บ้าน บางทีก็พลอยไหม้บ้านไปด้วย..!
ส่วนคำว่า "หม้อเขียว" นั้น ความจริงก็เป็นหม้อโลหะเคลือบสี มีทั้ง สีน้ำเงิน สีเขียว สีแดง สีขาว เป็นต้น แต่ด้วยความที่ว่าสีน้ำเงินได้รับความนิยมในการใช้มากที่สุด แล้วคนโบราณก็เรียกสีไม่เหมือนกับสมัยของเรา ดังนั้น..จึงเรียกสีน้ำเงินว่าสีเขียว เมื่อเจอหม้อเคลือบขนาดนั้นเข้า จึงพากันเรียกว่า "หม้อเขียว" กันหมด เรียกไปเรียกมาบ่อย ๆ ไม่ว่าจะเป็นหม้อสีอะไร ถ้ารูปร่างหน้าตาแบบนั้นก็เรียกว่า "หม้อเขียว" กันหมดทุกสี
เพราะว่าสีเขียวนั้น ไม่ว่าจะเป็นสีดำเข้ม ที่เรียกว่าดำจนเขียว บางทีเขาก็เรียกว่าสีเขียว อย่างเช่นว่าม้าหรือหมา สีเขียวปนดำ หรือเรียกง่าย ๆ ว่าสีน้ำตาลเข้มจนดำ บางทีเขาก็เรียกว่าม้าสีกะเลียว ก็แปลว่า เขียวอีกแบบหนึ่งก็คือสีกะเลียว แล้วยังมีสีขาบ ซึ่งก็คือสีน้ำเงินเข้ม แล้วก็สีคราม ก็คือสีฟ้า หรือว่าสีน้ำเงินอ่อน ซึ่งในสมัยนั้นยังไม่มีสีน้ำทะเล หรือว่าสีฟ้าในลักษณะที่เราเรียกว่าสีฟ้าเทอร์ควอยซ์ หรือว่าสีพลอยขี้นกการะเวก ในเมื่อเป็นเช่นนั้น จึงต้องสื่อสารกันให้ชัดเจนว่า ทำไมถึงเรียกว่า "หม้อเขียว" ?
"หม้อเขียว" นี้ต้องบอกว่าเป็นความเจริญที่เข้ามาถึงแล้ว เพราะว่าแต่แรกเริ่มนั้นจะใช้ถังไม้ ซึ่งจะเป็นการที่เอาแผ่นไม้มาทำ แล้วเข้าลิ้นเข้ารางกันเป็นวงกลม มีการปิดฐานทางด้านใต้ แล้วรัดเอาไว้ด้วยวงเหล็ก กว่าที่จะนำเหล็กเข้าไปได้แล้วตอกหมุดปิด ก็จะต้องเผาไฟเพื่อที่จะให้เหล็กขยายตัว ถึงเวลาหดกลับเข้าไปจะได้รัดแน่น บรรดาถังไม้นี้ใช้ได้หลากหลายมาก ไม่ว่าจะเป็นการบรรจุข้าวของ บรรจุอาหาร บรรจุข้าวสวย ตลอดจนกระทั่งบรรจุน้ำ แรก ๆ น้ำก็จะรั่วซึมได้บ้าง แต่พอไม้โดนน้ำแล้วไม้เกิดการยืดตัวขึ้นมา ก็จะปิดรอยรั่วซึมไปเอง โดยที่ไม่ต้อง "ยาแนว"
__________________
........................
เกิดมาทั้งที เอาดีให้ได้ ตายไปทั้งที ฝากดีเอาไว้ อยู่ให้เขาเกรงใจ ไปให้เขาคิดถึง
จะเช มัตตา สุขังธีโร ปัญญาชน พึงสละสุขส่วนตน เพื่อสุขยิ่งใหญ่ของส่วนรวม
แก้ไขครั้งสุดท้ายโดย สุธรรม : 22-04-2025 เมื่อ 01:32
|