ไม่เหมือนกับรุ่นพ่อ รุ่นแม่ รุ่นปู่ รุ่นย่า ที่บอกว่าถึงขนาดต้องกิน "ขุยไผ่" กระผม/อาตมภาพลองกวาดขุยไผ่ หรือว่าดอกไผ่มาแกะดูแล้ว ไม่มีอะไรเลย นอกจากอยู่ในลักษณะเหมือนกับเม็ดข้าว แต่ว่ามีเปลือกซ้อนกันเป็นชั้น ๆ เท่านั้น ก็แปลว่านึ่งมาแล้วก็คงจะต้องเคี้ยว อยู่ในลักษณะที่เหมือนกับกินกระดาษนั่นเอง กลืนลงหรือว่ากลืนไม่ลง ก็ต้องพยายามกลืนลงไป ไม่เช่นนั้นแล้วก็อาจจะต้อง "หิวไส้แขวน" ถึงขนาดเป็นลมไปเลยก็มี
ในเรื่องของน้ำนั้น ส่วนใหญ่ก็จะรองน้ำฝนจากชายคา แต่เนื่องจากว่าที่บ้านนั้นหลังคามุงจาก ซึ่งสมัยก่อนนั้น หลังคามุงแฝกบ้าง มุงจากบ้าง มุงหญ้าคาบ้าง ยกเว้นบ้านคนรวยถึงจะมุงสังกะสี แต่ว่าน้ำจากสังกะสีพวกเราไม่กล้ากินกัน เนื่องเพราะว่าสังกะสีพอเก็บไว้นาน ๆ บางทีก็ขึ้นสนิม โดนครูขู่ว่าอาจจะเป็นบาดทะยักได้..!
พวกเราก็ไม่รู้ ครูบอกอะไร ผู้ใหญ่บอกอะไร ก็เชื่อเอาไว้ก่อน แต่ว่าน้ำที่รองจากหลังคาจากแบบที่บ้านของกระผม/อาตมภาพ ก็จะเป็นสีเหมือนกับน้ำชา ยิ่งหลังคาจากเก่าเท่าไร สีก็ยิ่งเข้มเท่านั้น มารู้ทีหลังว่าน้ำฝนจากหลังคาจากนี้หมักปลากัดได้ดุเดือดและสีเข้มดีนักแล..!
ถ้าหากว่าเราเลี้ยงปลากัด ไม่ว่าเป็นลูกหม้อ ลูกป่า หรือว่าลูกสังกะสี ถ้าหมักด้วยน้ำใบจาก ปลากัดที่กัดกันมาได้รับบาดเจ็บก็จะหายเร็ว ส่วนตัวที่เราหมักโดยที่ไม่ได้รับบาดเจ็บอะไร ก็จะมีสีสันเข้มมาก ถึงเวลานำมาใส่ขวดแม่โขงแบนที่ทำความสะอาด แกะตราออกหมดแล้ว ขวดใส ๆ แล้วบรรดาปลาก็พองครีบอวดกัน รู้สึกว่าสีสันจะเข้มข้นเป็นอย่างยิ่ง ถ้าทิ้งเอาไว้หลาย ๆ วัน สีเริ่มจางลง เพราะว่าปลาอยู่ในที่น้ำใส เราก็ปล่อยลงไปหมักใบจากใหม่ เหล่านี้เป็นต้น
ถ้าหากว่าเป็นหน้าแล้ง หาน้ำไม่ได้ ที่บ้านก็จะมีน้ำบาดาล ซึ่งเป็นบ่อที่ขุดเอง ลึกประมาณสัก ๒ วาเท่านั้น น้ำจืดกินได้สนิทใจมาก แต่น่าเสียดายว่าภายหลัง เมื่อกระผม/อาตมภาพเข้ามาทำงานในกรุงเทพฯ แล้ว รอบบ้านปลูกอ้อยกันหมด กลายเป็นบ้านเดียวที่ปลูกผัก บรรดาแมลงทั้งโลกก็เลยแห่ลงมาที่สวนผัก..! จนกระทั่งสู้ไม่ไหว ฉีดยาเท่าไรก็ไล่แมลงไม่หมด ท้ายที่สุดก็ต้องปลูกอ้อยตามเขา แล้วการใส่ปุ๋ยอ้อยนั่นแหละทำให้น้ำกลายเป็นรสเค็ม รสกร่อย ฝืดเฝื่อนไปได้อย่างไรก็ไม่ทราบ จนกระทั่งไม่สามารถที่จะใช้กินได้อีก
__________________
........................
เกิดมาทั้งที เอาดีให้ได้ ตายไปทั้งที ฝากดีเอาไว้ อยู่ให้เขาเกรงใจ ไปให้เขาคิดถึง
จะเช มัตตา สุขังธีโร ปัญญาชน พึงสละสุขส่วนตน เพื่อสุขยิ่งใหญ่ของส่วนรวม
แก้ไขครั้งสุดท้ายโดย สุธรรม : 20-04-2025 เมื่อ 07:57
|