"ปลาออ" ที่เจอมา นอกจากที่จะเป็นปลาสร้อยแล้วก็มีเป็นปลาดุก ถึงเวลาม้วนกันเป็นก้อน ๆ เต็มลำน้ำไปหมด แล้วกระผม/อาตมภาพก็เพิ่งรู้ว่าปลานั้นส่งเสียงร้องได้ด้วย พอถึงเวลาก็มีเสียงอุ๊บอิ๊บอี๊ดอ๊อดดังลั่นไปหมด..! ถ้าหากว่าไม่ใช่ได้ยินมาด้วยตนเอง แล้วมีคนบอกว่าปลาร้องได้ กระผม/อาตมภาพก็ไม่เชื่อเหมือนกัน
ส่วนในเรื่องของข้าวซึ่งเป็นอาหารหลักนั้น ถ้าในช่วงข้าวยากหมากแพง ก็มีการอาศัยฟักทองบ้าง มันเทศบ้าง มันมือเสือบ้าง หรือถ้าหากว่าอยู่ใกล้ป่าก็มีมันนก มันหม้อ มันเสา เหล่านี้เป็นต้น
สำหรับมันเสานั้นเป็นหัวมันที่ขึ้นแล้วแทงลงไปตรง ๆ บางทีก็ยาวถึง ๒ เมตร ๓ เมตร..! แต่ละหัวใหญ่เกือบจะเท่ากับต้นเสาบ้าน ขุดลงไปจนลึกท่วมหัวแล้วก็ยังได้ไม่ถึงครึ่ง คนโบราณก็เลยใช้วิธีเอาเถาวัลย์ผูกกับทางด้านโคน ซึ่งความจริงก็คือหัวมันนั่นแหละ แล้วก็โน้มเอาต้นไม้ลงมาผูกโยงเอาไว้ เอาน้ำเทลงไปสัก ๒ - ๓ ถัง เมื่อผ่านเป็นวันเป็นคืน น้ำทำให้ดินอ่อนลง และแรงดึงของยอดไม้ที่เราโน้มลงมาก็ฉุดเอามันเสาลอยขึ้นไปทั้งต้น ถ้าตั้งใจจะกินเป็นอาหารอย่างเดียว ต้นหนึ่งก็กินกันไปได้เป็นอาทิตย์เลย..! หรือไม่ก็ใช้วิธีสับเป็นท่อน ๆ ท่อนที่จะเก็บเอาไว้ก็ใช้ปูนกินกับหมากทาเอาไว้ก่อน ป้องกันไม่ให้เน่าเสีย ส่วนอีกท่อนหนึ่งก็นำไปประกอบอาหาร
ถ้าช่วงที่ขาดแคลนจริง ๆ แม้กระทั่งกลอยก็ต้องขุดมากิน แต่ว่าต้องทำให้เป็น ถ้าหากว่าทำไม่เป็นก็จะเมาอย่างชนิดที่เขาเรียกว่า "รากเขียวรากเหลือง" ซึ่งถ้าหากว่าเรากินเอาน้ำเมาเข้าไปมาก โอกาสที่จะตายก็มีสูงมาก..!
เราต้องหั่นกลอยเป็นชิ้นบาง ๆ ใส่ตะกร้าเอาไว้ แช่อยู่ในน้ำไหล แล้วก็ลงไปเหยียบทุกวัน คำว่าเหยียบก็คือลงไปย่ำ เพื่อให้น้ำเมาออกจากเนื้อกลอย จนกระทั่งบรรดาพวกหอยขึ้นมาเกาะเนื้อกลอย ถึงจะสามารถกินได้ แสดงว่าน้ำเมาหมดแล้ว แต่ว่าคนที่กินกลอยเป็นอาหาร ถ้ากินไปนาน ๆ ก็จะออกอาการที่คนโบราณเรียกว่า "ตานขโมย" ก็คือ "พุงโรก้นปอด" ไม่ทราบเหมือนกันว่าเป็นเพราะขาดสารอาหารอะไร ? แต่ก็กินกันในลักษณะกันตายเท่านั้น..!
__________________
........................
เกิดมาทั้งที เอาดีให้ได้ ตายไปทั้งที ฝากดีเอาไว้ อยู่ให้เขาเกรงใจ ไปให้เขาคิดถึง
จะเช มัตตา สุขังธีโร ปัญญาชน พึงสละสุขส่วนตน เพื่อสุขยิ่งใหญ่ของส่วนรวม
แก้ไขครั้งสุดท้ายโดย สุธรรม : 20-04-2025 เมื่อ 07:52
|