เริ่มต้นจากการเพียรพยายามรักษาศีล ๕ ข้อให้บริสุทธิ์บริบูรณ์ ไม่ละเมิดศีลด้วยตนเอง ไม่ยุยงส่งเสริมให้ผู้อื่นละเมิดศีล ไม่ยินดีเมื่อเห็นผู้อื่นละเมิดศีล
ถ้าสามารถทำได้โดยไม่หนักใจแล้ว ก็ขยับขึ้นไปรักษากรรมบถ ๑๐ ก็คือเพิ่มจากศีล ๕ ขึ้นไป เน้นในส่วนของวาจา นอกจากไม่พูดโกหกแล้ว ยังไม่พูดส่อเสียดให้คนแตกร้าวกัน ไม่พูดคำหยาบให้คนอื่นระคายหูหรือว่าเจ็บใจ ไม่พูดวาจาที่เพ้อเจ้อไร้ประโยชน์
แล้วยังต้องไปเน้นในเรื่องของใจ ก็คือไม่โลภอยากได้จนเกินพอดี ต้องการอะไรให้หามาโดยถูกต้องตามศีลตามธรรม ไม่อาฆาตพยาบาทใคร โกรธได้ แต่ว่าไม่ผูกโกรธ และท้ายที่สุด มีความเห็นตรงว่าสิ่งที่องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าสอนมานั้นเป็นสิ่งดี เราควรที่จะยึดถือและปฏิบัติตาม
เมื่อสามารถปฏิบัติในกรรมบถ ๑๐ ได้โดยไม่หนักใจแล้ว ก็ขยับขึ้นไปรักษาศีล ๘ ซึ่งเป็นศีลพรหมจรรย์ ก็คือการอยู่คนเดียว ละเว้นจากการครองคู่ พูดง่าย ๆ ว่ากำลังใจถ้ามาถึงระดับนี้ การที่จะยึดมั่นถือมั่นในตัวตนก็มีน้อยแล้ว
ดังนั้น..การที่จะไปยึดมั่นถือมั่นในร่างกายคนอื่น ก็ยิ่งน้อยลงไปอีก จึงกลายเป็นบุคคลที่นิยมการอยู่คนเดียว ขัดเกลากาย วาจา ใจ ของตน ด้วยศีลระดับละเอียด ก็คือเว้นจากการรับประทานอาหารในเวลาวิกาล เพื่อที่กำลังใจไม่ต้องไปกังวลกับสิ่งทั้งหลายเหล่านี้
ละเว้นจากการประดับตกแต่งร่างกายด้วยของหอม เครื่องย้อม เครื่องทา เพื่อที่จะได้ระงับกิเลสภายนอก ไม่ให้เข้ามาสู่ใจของเรา เพราะเห็นอย่างชัดเจนแล้วว่าร่างกายนี้มีแต่ความสกปรก ไม่มีแก่นสารอะไร ต่อให้เพียรพยายามประดับตกแต่งไปเท่าไร ก็จะแสดงออกซึ่งความสกปรกของตนออกมาเสมอ แค่พยายามรักษาความสะอาด เพื่อที่จะเข้าสังคมได้เท่านั้น ไม่จำเป็นที่จะต้องไปแสดงความสวยความงามอวดใครอีกแล้ว
__________________
........................
เกิดมาทั้งที เอาดีให้ได้ ตายไปทั้งที ฝากดีเอาไว้ อยู่ให้เขาเกรงใจ ไปให้เขาคิดถึง
จะเช มัตตา สุขังธีโร ปัญญาชน พึงสละสุขส่วนตน เพื่อสุขยิ่งใหญ่ของส่วนรวม
แก้ไขครั้งสุดท้ายโดย สุธรรม : 07-04-2025 เมื่อ 02:03
|