ร่างกายนี้ก็เหมือนกับรถยนต์คันหนึ่ง ตัวเราเปรียบเสมือนคนขับรถ ถึงเวลารถยนต์คันนี้พังลง เราก็ออกจากรถยนต์คันนี้ไปสู่รถยนต์คันใหม่ ตามบุญตามกรรมที่เราได้กระทำเอาไว้ ถ้าหากว่าสร้างกรรมดีไว้มาก ก็ได้รถดี ๆ สวย ๆ ราคาแพง ๆ ไว้ขับขี่ในชาติต่อไป ถ้าสร้างกรรมไม่ดีเอาไว้มาก ก็ได้รถพัง ๆ โทรม ๆ เอาไว้ขับขี่ในชาติต่อไป ซึ่งแปลว่าถ้าทำกรรมเอาไว้มาก ก็ต้องทนทุกข์ยากลำบากในชาติถัด ๆ ไป ซึ่งไม่ว่าจะคำว่าจุติ คือเคลื่อนไป หรือคำว่าก่วยซี ซึ่งแปลว่าข้ามร่างก็ดี เป็นการมองเห็นอย่างชัดเจนว่า ความตายไม่ใช่จุดสิ้นสุดของชีวิต
ดังนั้น..การที่เราเวียนว่ายตายเกิดอยู่นี้ องค์สมเด็จพระชินสีห์บรมศาสดาสัมมาสัมพุทธเจ้า ผู้เจนจบในทุกเรื่อง สามารถมองเห็นตั้งแต่จุดเริ่มต้นไปถึงจุดสิ้นสุด ว่าทำอย่างไรจึงจะสิ้นสุดการเวียนว่ายตายเกิดไม่รู้จบแบบนี้ ซึ่งก็คือแนวทางปฏิบัติที่เรียกว่าอัฏฐังคิกมรรค ที่คนไทยเรียกว่ามรรค ๘ หรือมรรคมีองค์ ๘ พูดง่าย ๆ ว่าเป็นหนทาง ๘ สาย ที่นำพาพวกเราให้ล่วงพ้นจากความทุกข์ เมื่อย่อลงมาแล้ว เหลือหลักศีล สมาธิ และปัญญา
ศีลนั้นเป็นการขัดเกลากาย วาจา และใจของเรา ให้หลุดพ้นจากกิเลสในระดับหยาบ ๆ
สมาธินั้นเป็นการขัดเกลากาย วาจา และใจของเรา ให้พ้นกิเลสในระดับกลาง
ปัญญาเป็นเครื่องขัดเกลากาย วาจา และใจของเราให้พ้นกิเลสที่ฝังลึก บางทีเรียกว่าอนุสัย คือสิ่งที่นอนเนื่องอยู่ในสันดานของเรา
ต้องทำจนครบถ้วนสมบูรณ์ หนทางทั้ง ๘ สายนี้จึงจะนำพาท่านทั้งหลาย หลุดพ้นจากกองทุกข์ เข้าสู่พระนิพพาน ซึ่งคำสอนนี้ไม่มีในศาสนาอื่น มีเพียงในพระพุทธศาสนาอย่างเดียวเท่านั้น
ดังนั้น..ถ้าหากว่าท่านทั้งหลายมองเห็นความเป็นจริงในชีวิตว่า มีเกิด มีตาย เป็นปกติธรรมดา ก็จะไม่หวั่นไหวกับเรื่องทั้งหลายเหล่านี้ หากแต่ตั้งหน้าตั้งตาสร้างคุณงามความดี เพื่อทำให้หนทางการเวียนว่ายตายเกิดของตนเหลือให้สั้นที่สุด หรือว่าน้อยที่สุด ถ้าสามารถหลุดพ้นไปได้เลยก็ยิ่งดี ซึ่งต้องมีการขัดเกลา ฝึกฝนกาย วาจา และใจของตนเองเอาไว้เสมอ
__________________
........................
เกิดมาทั้งที เอาดีให้ได้ ตายไปทั้งที ฝากดีเอาไว้ อยู่ให้เขาเกรงใจ ไปให้เขาคิดถึง
จะเช มัตตา สุขังธีโร ปัญญาชน พึงสละสุขส่วนตน เพื่อสุขยิ่งใหญ่ของส่วนรวม
แก้ไขครั้งสุดท้ายโดย สุธรรม : 07-04-2025 เมื่อ 02:01
|