วันนี้ตรงกับวันเสาร์ที่ ๑ มีนาคม พุทธศักราช ๒๕๖๘ กระผม/อาตมภาพเดินทางไปร่วมทำวัตรเช้ากับผู้เข้าฝึกซ้อมอบรมเพื่อสอบเป็นพระอุปัชฌาย์ประจำปี ๒๕๖๘ ที่วัดไร่ขิง (พระอารามหลวง) ซึ่งหลวงพ่อเจ้าคุณแย้ม - พระเดชพระคุณพระธรรมวชิรานุวัตร, ดร. (แย้ม กิตฺตินฺธโร) เจ้าคณะภาค ๑๔ เจ้าอาวาสวัดไร่ขิง (พระอารามหลวง) ท่านมานำทำวัตรเช้าให้ทุกวัน
โดยที่หลวงพ่อเจ้าคุณแย้มของเรานั้น ท่านพูดกับกระผม/อาตมภาพหลายครั้งว่า "จะให้ข้าไปนั่งสมาธิข้ามวันข้ามคืนอย่างแก ข้าทำไม่ได้ แต่ถ้าหากว่าให้สวดมนต์ไหว้พระเป็นชั่วโมง ๆ ข้าก็ทำได้" แล้วท่านก็ใช้คำว่า "ข้าไม่มีสมาธิ" ซึ่งคำนี้ไม่เป็นความจริง
เนื่องเพราะว่าหลวงพ่อเจ้าคุณแย้มท่านไม่เข้าใจคำว่า "สมาธิใช้งาน" การสวดมนต์ทำวัตรนั้นเป็นการสร้างสมาธิโดยตรง สถานเบาเลยก็คือถ้าขาดสติ เราจะสวดผิด ในเมื่อเป็นเช่นนั้น สภาพจิตที่จดจ่ออยู่กับเนื้อหาของธรรมะที่เราจะสวดสาธยาย เพื่อป้องกันไม่ให้ผิดพลาด นั่นก็คือการสร้างสมาธิให้เกิด
แล้วถ้าหากว่าต้องการให้มากกว่านั้น ก็ทำอย่างที่กระผม/อาตมภาพเคยแนะนำหลายท่านเอาไว้หลายครั้งแล้วว่า ถ้าต้องการจะสร้างสมาธิให้สูงกว่านั้น ก็ให้สวดสาธยายพร้อมกับจับลมหายใจไปด้วย คำสวดทุกประโยคก็คือคำภาวนานั่นเอง เพียงแต่ว่าเป็นคำภาวนาที่ค่อนข้างจะยาวอยู่สักหน่อย แล้วก็อย่าไปจับสัมผัสว่าต้องคำโน้นลงฐานนั้น ต้องคำนี้ลงฐานนี้ ถ้าทำในลักษณะอย่างนั้น สภาพจิตจะพะวักพะวงแล้วเกิดสมาธิยาก ให้ปล่อยยาวไปเลยว่า ตามลมหายใจเข้าไปจนสุด ตามลมหายใจออกมาจนสุด
ถ้าจิตจดจ่ออยู่แค่นี้ ท่านจะสามารถทรงได้จนถึงระดับอัปปนาสมาธิ ก็คือปฐมฌานละเอียด ถ้าไม่มีการซักซ้อมคล่องตัว ท่านจะไปไกลกว่านี้ไม่ได้ เนื่องเพราะว่าถ้าเกินจากจุดนี้ไป สภาพจิตกับประสาทจะแยกออกจากกันแทบจะเด็ดขาดไปเลย สิ่งหนึ่งประการใดที่เกิดขึ้นกับร่างกาย เราไม่สามารถที่จะบังคับได้
หลายต่อหลายท่านถ้าสวดมนต์ไปเหมือนอย่างกับหลับ หรือว่านิ่ง "ฟิวส์ขาด" ไปเฉย ๆ ก็คือบุคคลที่เริ่มเข้าสู่ระดับนี้ ถ้าขาดการซักซ้อมมาก ๆ แค่ระดับปฐมฌานหยาบก็จะเป็นอย่างนี้แล้ว แต่ถ้าหากว่ามีการซักซ้อมมากขึ้น จนก้าวเข้าสู่ความเป็นปฐมฌานละเอียด ท่านก็ยังสามารถที่จะสวดมนต์ไหว้พระได้ แต่ว่าบางทีการสวดก็จะช้าลงไปโดยอัตโนมัติ
__________________
........................
เกิดมาทั้งที เอาดีให้ได้ ตายไปทั้งที ฝากดีเอาไว้ อยู่ให้เขาเกรงใจ ไปให้เขาคิดถึง
จะเช มัตตา สุขังธีโร ปัญญาชน พึงสละสุขส่วนตน เพื่อสุขยิ่งใหญ่ของส่วนรวม
แก้ไขครั้งสุดท้ายโดย สุธรรม : 02-03-2025 เมื่อ 01:52
|