บุคคลที่กระผม/อาตมภาพทึ่งที่สุดก็คือหลวงพ่อเจ้าคุณสะอิ้ง - พระเดชพระคุณพระธรรมพุทธิมงคล (สะอิ้ง สิรินนฺโท ป.ธ. ๘) ที่ปรึกษาเจ้าคณะภาค ๑๔ เจ้าอาวาสวัดป่าเลไลยก์ วรวิหาร จังหวัดสุพรรณบุรี ตั้งแต่ประโยค ๕ ถึงประโยค ๘ ท่านอ่านหนังสือเองแล้วสอบได้ ยังดี..ถ้าหากว่าท่านสอบประโยค ๙ ได้ด้วย จะเป็นเรื่องที่อัศจรรย์กว่านี้..!
เพียงแต่ว่าต่อให้ท่านเก่งขนาดไหนก็ตาม ในยุคนั้นผู้ที่ตรวจฉันท์ประโยค ๙ ยึดรูปแบบของตนเองเคร่งครัดมาก คุณจะแต่งไพเราะ แต่งได้เหมาะสมขนาดไหนก็ตาม ถ้าไม่เป็นไปตามรูปแบบของท่าน ท่านจับตกเลย..! พูดง่าย ๆ ก็คือกรรมการอื่นตรวจฉันท์ประโยค ๘ ประโยค ๙ แล้ว ต้องส่งให้ท่านดูอีกทีหนึ่ง ต่อให้คนอื่นผ่าน ๓ หอ แต่ถ้ารูปแบบไม่ได้ ท่านซึ่งเอาไปตรวจซ้ำจะปรับตกเลย..! จึงไม่ต้องสงสัยว่าทำไมผู้ที่เรียนด้วยตนเอง อย่างหลวงพ่อพระธรรมพุทธิมงคลท่านถึงได้สอบประโยค ๙ ตก ? ต้องบอกว่าตกเพราะอาจารย์ ไม่ได้ตกเพราะลูกศิษย์ไม่มีความสามารถ เรื่องพวกนี้เป็นตำนานเล่าขานอยู่ในวงการบาลีของเรามาโดยตลอด
แบบเดียวกับท่านเจ้าคุณสอน - พระอุดมปิฎก (สอน พุทฺธสโร) ไม่มีโอกาสได้สอบประโยค ๙ เพราะว่ารูปไม่หล่อ..! จนกระทั่งท้ายสุด ท่านไปชงน้ำชาถวายพระเถระในงานสอบ ซึ่งตอนนั้นยังเป็นการสอบปากเปล่า ได้ยินพระรูปหล่อเขาแปลตะกุกตะกัก..ไม่รอดสักที ท่านก็สั่นหัว บังเอิญกรรมการสังเกตเห็น จึงถามว่า "คุณแปลได้หรือ ?" ท่านบอกว่า "ได้ขอรับ เพียงแต่ว่าเกล้าฯ ไม่มีคนรับรองให้เข้าแปล เพราะว่าหน้าตาไม่ดีอย่างที่กรรมการต้องการ" กรรมการท่านนั้นจึงรับรองให้ แล้วท่านแปลรวดเดียวได้ ๙ ประโยคเลย..!
หรือไม่ก็อย่างหลวงพ่อเจ้าคุณสมบูรณ์ - พระเทพสาครมุนี (สมบูรณ์ ปญฺญาวุโธ ป.ธ. ๙) เจ้าอาวาสวัดเจษฎาราม (พระอารามหลวง) ที่ปรึกษาเจ้าคณะภาค ๑๔ รูปปัจจุบัน ประโยค ๙ ประโยคเดียว ท่านสอบอยู่ ๑๔ ปี เพราะว่าท่านเป็นเลขานุการเจ้าคณะจังหวัดให้กับหลวงปู่แก้ว สุวณฺณโชโต วัดช่องลม จังหวัดสมุทรสาคร ซึ่งสมณศักดิ์ของท่านก็คือพระเทพสาครมุนีเหมือนกัน
ด้วยความที่ท่านต้องแบกงานทั้งจังหวัดเอาไว้ ไม่มีเวลาเรียนหนังสือ ไม่มีเวลาท่อง แต่พอถึงเวลา หลวงปู่แก้วบอกว่า "มหาสมบูรณ์ ไปสมัครสอบประโยค ๙ ด้วย" ท่านก็เพียรพยายามไปสอบ ปีแล้วปีเล่า ไปสอบได้เอาปีที่ ๑๔ อายุ ๔๐ กว่า เกือบจะ ๕๐ แล้ว..!
__________________
........................
เกิดมาทั้งที เอาดีให้ได้ ตายไปทั้งที ฝากดีเอาไว้ อยู่ให้เขาเกรงใจ ไปให้เขาคิดถึง
จะเช มัตตา สุขังธีโร ปัญญาชน พึงสละสุขส่วนตน เพื่อสุขยิ่งใหญ่ของส่วนรวม
แก้ไขครั้งสุดท้ายโดย สุธรรม : 27-02-2025 เมื่อ 05:37
|