โดยธรรมชาติของการเรียนระดับมหาบัณฑิตหรือดุษฎีบัณฑิต ไม่มีการจบพร้อมกัน เพราะว่าเขาไม่รักกัน ถึงเวลาต่างคนต่างเอาตัวรอด แต่รุ่นของกระผม/อาตมภาพไม่ใช่อย่างนั้น ทุกคนช่วยกันอย่างชนิดที่แทบจะไม่สนใจงานตัวเอง แต่ช่วยให้เพื่อนรอดก่อน ตัวอย่างของ ดร.พระครูปรีชาของเรา พระครูสุตกาญจนวัฒน์, ดร. (ปรีชา จิรนาโค) เจ้าอาวาสวัดวังปะโท่ เหลือเวลา ๒ วันจะถึงเส้นตาย ต้องส่งเล่มวิทยานิพนธ์ให้ทัน ไม่อย่างนั้นก็จบปีหน้า คณะกรรมการสอบวิทยานิพนธ์บอกว่า "ให้ไปแก้ไขมาภายใน ๙๐ วัน" ทั้งที่มีเวลาแค่ ๒ วัน แปลตรง ๆ ว่าคุณสอบตกแน่..!
พวกกระผม/อาตมภาพทำอย่างไร ? ผ่าเล่มวิทยานิพนธ์แบ่งไปเลย ๕ คน ๆ ละบท คืนนี้ไปทำมา หลักการและเหตุผลอย่างนี้ วัตถุประสงค์อย่างนี้ พื้นที่ในการทำวิจัยอย่างนี้ อธิบายเสร็จสรรพเรียบร้อย ต่างคนต่างก็หัวทิ่มอยู่กับบทนั้น ๆ แล้วก็เอามาต่อกันในเช้าวันรุ่งขึ้น วิ่งไปร้านให้เขาพิมพ์วิทยานิพนธ์ให้ ไล่ตามท่านอาจารย์ล่าลายเซ็น ลายเซ็นสุดท้ายได้ตอน ๑ ทุ่มของวันที่สอง..!
แล้วเดชะบุญคุณพระคุ้ม ท่านอาจารย์ตอนนั้น ก็คือพระมหาสมบูรณ์ วุฑฺฒิกโร, ผศ., ดร. ปัจจุบันก็คือท่านเจ้าคุณอาจารย์พระปัญญาวัชรบัณฑิต ป.ธ. ๗, รศ.,ดร. รองอธิการบดีฝ่ายวิชาการ มหาวิทยาลัยมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย
ตอนนั้นท่านเป็นคณบดีบัณฑิตวิทยาลัย ท่านรอลูกศิษย์จนเที่ยงคืนเป๊ะตามกฎหมายเลย ทำเอาพระครูปรีชารอดไปได้หวุดหวิด แล้วคุณจะไปหาเพื่อนที่รักเพื่อนอย่างรุ่นของกระผม/อาตมภาพไม่ต้องไปหา เพราะว่าตัวหลักไม่มี
ที่กล่าวมาถึงตรงนี้ก็เพราะว่าในเรื่องของการเรียนบาลีนั้น ต่างจากเรื่องทางโลกมาก ใครที่สอบได้ถือเป็นความภาคภูมิใจในชีวิตของตนเองได้เลย กระผม/อาตมภาพเองเรียนจบปริญญาเอก แม้จะรู้สึกว่ายาก แต่พอมาเรียนบาลีเข้าจริง ๆ ความรู้สึกก็คือ "ใครจบบาลีประโยค ๙ ได้ มีสิทธิ์เรียนด็อกเตอร์จบได้ ๓ ใบเลย..!" ความยากต่างกันจนขนาดนั้น..!
__________________
........................
เกิดมาทั้งที เอาดีให้ได้ ตายไปทั้งที ฝากดีเอาไว้ อยู่ให้เขาเกรงใจ ไปให้เขาคิดถึง
จะเช มัตตา สุขังธีโร ปัญญาชน พึงสละสุขส่วนตน เพื่อสุขยิ่งใหญ่ของส่วนรวม
แก้ไขครั้งสุดท้ายโดย สุธรรม : 25-02-2025 เมื่อ 02:33
|