ถาม : วัตถุมงคลต่าง ๆ เช่น พระของขวัญวัดปากน้ำ, พระของหลวงปู่โตวัดระฆังทั้งหมด, วัตถุมงคลของหลวงปู่ปานทั้งพระเครื่องและลูกอมรวมทั้งวัตถุมงคลสายต่าง ๆ ที่ผู้สร้างเก่งจริงรู้จริงสามารถขอบารมีพระพุทธเจ้าสงเคราะห์ได้ ถ้าพลาดไปทำแตกหักโดยไม่ตั้งใจจะมีอานุภาพเพิ่มขึ้นแบบเดียวกับวัตถุมงคลสายวัดท่าซุงหรือวัดท่าขนุนหรือไม่ครับ ?
ตอบ : ขึ้นอยู่กับว่า พระ หรือ พรหม เทวดา ท่านสัญญาหรือไม่ว่าจะสงเคราะห์แบบนั้น
ถาม : ขนาดของวัตถุมงคลที่แตกออกเป็นชิ้นต่อให้มีขนาดที่เล็กมากขนาดไหนขอให้แยกกันออกมาเป็นชิ้นใหม่จะกี่ชิ้นก็ตามก็จะมีเทวดารักษา ๑ องค์ต่อ ๑ ชิ้นใช่หรือไม่ครับ ?
ตอบ : ดูคำตอบข้างบน
ถาม : การตั้งภาพกสิณขึ้นมา ก่อนจะทำการกำหนดใจทิ้งภาพกสิณ เพื่อไปจับอากาศอันไม่มีที่สิ้นสุด พร้อมทั้งพิจารณาและรู้ลมหายใจพร้อมคำบริกรรมตามวิธีการทำอรูปฌานนั้นภาพกสิณในตอนแรกที่ตั้งขึ้นมานั้นต้องเป็นแบบอุคหนิมิตหรือปฏิภาคนิมิตครับ ?
ตอบ : ปฏิภาคนิมิต
ถาม : อสุภกรรมฐานพอภาพศพทั้ง ๑๐ แบบติดตาแล้ว ถ้าเริ่มภาวนาจนเป็นฌาน ภาพศพจะเปลี่ยนแปลงไปเช่นเดียวกับภาพกสิณที่เปลี่ยนไปตามระดับฌานที่สูงขึ้นหรือไม่ครับ ?
ตอบ : เปลี่ยน
ถาม : การทำอสุภกรรมฐานให้เป็นอรูปฌาน ต้องตั้งภาพศพแบบไหนขึ้นมาก่อน ถึงจะเพิกภาพศพแล้วไปจับอารมณ์ของอรูปฌานครับ ?
ตอบ : แบบไหนก็ได้ แค่กองเดียวก็พอแล้ว
ถาม : กรรมฐานหลายกองเช่น อาหาเรปฏิกูลสัญญา, จตุธาตุววัฏฐาน ถ้าจะนึกให้เป็นภาพเพื่อทำเป็นกสิณเพื่อนำไปทำให้ถึงสมาบัติ ๘ ต้องนึกภาพแกงภาพข้าวเป็นกสิณสีหรือนึกให้สิ่งที่กำหนดแยกออกเป็นกสิณดินน้ำไฟลมเป็นธาตุ ๔ เพื่อนำไปทำกสิณใช่หรือไม่ครับ ?
ตอบ : พิจารณาจนพอใจแล้ว ก็จับลมหายใจเป็นหลัก ไม่ใช่จับภาพ
ถาม : การใช้อภิญญาเหาะไปสวรรค์, พรหมโลก, นิพพานด้วยกายเนื้อใช้เวลากี่ชั่วโมงครับ แล้วพระคาถา โสตัตตะภิญญา หนักแน่นและมั่นคงพอจะใช้เหาะไปสวรรค์, พรหมโลก, นิพพานด้วยกายเนื้อได้หรือไม่ครับถ้าทำพระคาถาถึงที่สุดแล้ว ?
ตอบ : ถ้าตั้งใจเหาะไปก็หลายชาติกว่าจะถึง คนที่ชำนาญแค่คิดก็ถึงแล้ว ถ้าทำคาถาถึงที่สุดก็ไปได้
ถาม : เตโชกสิณสามารถอธิษฐานในรูปแบบให้ไฟพุ่งออกจากแขนและขาเพื่อผลักดันร่างกายให้ลอยขึ้นไปในอากาศแบบเดียวกับจรวดได้หรือไม่ครับ ?
ตอบ : ยังไม่เคยทดลอง ดูแล้วน่าทำจะได้
ถาม : ปกติการย่นระยะทางจะใช้กับการเดินหรือการนั่งรถบนถนนแต่ว่าสามารถอธิษฐานเพื่อย่นระยะทางขณะที่เดินบนอากาศ, เดินบนน้ำ, ดำดินได้หรือไม่ครับ ?
ตอบ : คนที่ชำนาญ จะอยู่ที่ไหนแค่คิดก็ถึงแล้ว
ถาม : ความเร็วในการเหาะของผู้ใช้พระคาถา, ระดับอภิญญา ๕ , ระดับอภิญญา ๕ สมาบัติ ๘, ระดับอภิญญา ๖, ระดับอภิญญา ๖ สมาบัติ ๘, ระดับปฏิสัมภิทาญาณ ๔, ระดับพระสาวกทั่วไป, ระดับพระอัครสาวก, ระดับพระปัจเจกพุทธเจ้า, ระดับพระพุทธเจ้า มีความแตกต่างกันหรือไม่ครับ ?
ตอบ : ถ้าซักซ้อมคล่องตัว ก็สำเร็จด้วยใจเหมือนกัน
|