โดยเฉพาะในสภาพของนักบวช แม้ว่าโอกาสกำไรมีสูงมาก แต่โอกาสที่จะขาดทุนมีมากกว่า เพราะว่าเราอยู่ในสถานะของปูชนียบุคคล เป็นบุคคลที่ชาวบ้านเขาเคารพบูชา เขาหวังพึ่งพา หวังเป็นเนื้อนาบุญ ถ้าเราทำตัวไม่สมกับสถานภาพของตนเอง ก็ถือว่าเราทำโทษตนเอง ก็คือมีแต่จะพาตนเองตกต่ำลงไปเรื่อย..!
เราต้องระลึกอยู่เสมอว่า วันแรกที่บวชเข้ามาตั้งใจไว้อย่างไร โดยเฉพาะคำกล่าวปฏิญาณที่ว่า นิพพานัสสะ สัจฉิกะระณัตถายะ เอตัง กาสาวัง คะเหตวา ข้าพเจ้าขอรับเอาผ้ากาสาวพัสตร์นี้มา เพื่อกระทำให้แจ้งซึ่งพระนิพพาน อย่าทำตัวเป็นคนลืมง่าย แล้วอย่าทำตัวคุ้นชินง่าย การที่เราทำตัวคุ้นชินกับวัดวาอาราม กับเพศของสมณะซึ่งเป็นเพศที่อันตราย แล้วทำตัวถึงก็ช่าง ไม่ถึงก็ช่าง โอกาสที่เราจะรอดจากอบายภูมิก็มีน้อยสุด ๆ..!
ความจริงกระผม/อาตมภาพอยากให้ทุกท่านไปเห็นนรกด้วยตนเอง จะได้รู้ว่านักบวชของเราลงไปมากมายมหาศาลขนาดไหน ก็มากจนขนาดที่ว่าเมื่ออายุครบ ๒๐ แล้ว โยมแม่ขอร้องให้บวช กระผม/อาตมภาพปฏิเสธมาโดยตลอด ไม่กล้าที่จะบวชให้ท่าน เพราะกลัวว่าจะมีสภาพเดียวกัน จนกระทั่งอายุ ๒๗ ปีแล้ว พระเดชพระคุณหลวงพ่อฤๅษีฯ ท่านขอให้บวชให้ท่านเพื่อแก้บน ก็ยังกราบเรียนท่านว่า "ขอแค่ ๗ วันเท่านั้น" เพราะเกรงว่าตนเองจะรักษาความดีเอาไว้ได้ไม่เกิน ๗ วัน..!
แต่ที่อยู่มาถึงทุกวันนี้ก็เพราะหน้าด้านหน้าทน ไปโดนครูบาอาจารย์ท่านทำให้เข้าใจว่า อารมณ์พระอริยเจ้าที่แท้จริงนั้นเป็นอย่างไร เหมือนกับท่านให้กินอาหารอร่อยที่สุดในโลกไปแล้ว จึงเกิดความมานะขึ้นมาว่า เราจะไปมัวกินอาหารของคนอื่นไม่ได้ เพราะว่าไม่มีใครมาเลี้ยงเราอยู่ตลอดเวลา เราต้องพากเพียรทำอาหารนี้เองให้ได้ ในเมื่อเป็นเช่นนั้น ทุกวันนี้ที่ยืนหยัดอยู่ได้ ต้องบอกว่าด้วยความมานะแท้ ๆ ก็คือถ้าทำไม่ได้ก็จะไม่เลิก..!
ฉะนั้น..เรื่องพวกนี้ เราเองนอกจากต้องระมัดระวังแล้ว ต้องเข้าใจว่าเราอยู่ในสายตาชาวบ้านโดยตลอด ยิ่งอายุกาลพรรษามากขึ้น อันดับแรกเลย รุ่นน้องจะมองรุ่นพี่ อันดับต่อไป ญาติโยมที่รู้จักมักคุ้นมีมากขึ้นไปเรื่อย ๆ ท่านทั้งหลายเหล่านี้ ส่วนใหญ่เคยสร้างบุญร่วมกันมาก่อน เขาก็จะเชื่อถือ ให้ความเคารพ เชื่อฟังและปฏิบัติตาม จึงกลายเป็นว่าสิ่งที่เราคิด สิ่งที่เราพูด สิ่งที่เราทำ มีอิทธิพลต่อคนอื่นมากขึ้น
__________________
........................
เกิดมาทั้งที เอาดีให้ได้ ตายไปทั้งที ฝากดีเอาไว้ อยู่ให้เขาเกรงใจ ไปให้เขาคิดถึง
จะเช มัตตา สุขังธีโร ปัญญาชน พึงสละสุขส่วนตน เพื่อสุขยิ่งใหญ่ของส่วนรวม
แก้ไขครั้งสุดท้ายโดย สุธรรม : 04-02-2025 เมื่อ 02:47
|