ในเมื่อเป็นเช่นนั้น ทำให้กระผม/อาตมภาพไปนึกถึงคำที่เขาว่า ในการอบรมหรือประชุมสัมมนานั้น "ครูกับพระเป็นบุคคลที่ว่ายากสอนยากที่สุด" เนื่องเพราะว่าครูส่วนใหญ่นั้นเป็นผู้ที่สอนคนอื่นมาโดยตลอด ส่วนพระนั้นก็มักจะโดนยกอยู่ในฐานะอันสูง จึงไม่ค่อยจะสนใจว่าสิ่งที่ตนเองควรประพฤติปฏิบัติ หรือว่าศึกษาให้รู้จริงนั้นเป็นอย่างไรบ้าง แล้วก็มีการแขวะว่า โดยเฉพาะ "พระครู" อย่างพวกกระผม/อาตมภาพนั้นว่ายากที่สุด..! เนื่องเพราะว่าเป็นพระด้วย เป็นครูด้วย ดูท่าแล้วก็น่าจะเป็นจริงตามนั้น
พระราชบัญญัติการศึกษาพระปริยัติธรรมพุทธศักราช ๒๕๖๒ นั้น ระบุเอาไว้ชัดเจนว่า บุคคลที่จบนักธรรมชั้นเอก ให้มีวุฒิการศึกษาเทียบเท่าชั้นมัธยมศึกษาปีที่ ๓ ของทางโลก
บุคคลที่จบเปรียญธรรม ๓ ประโยค ให้มีวุฒิการศึกษาเทียบเท่าชั้นมัธยมศึกษาปีที่ ๖ ของทางโลก
บุคคลที่จบเปรียญธรรม ๙ ประโยค ให้มีวุฒิการศึกษาเทียบเท่ากับปริญญาตรีของทางโลก
ซึ่งมีไม่เปลี่ยนแปลงอยู่เพียงประการเดียวก็คือวุฒิของเปรียญธรรม ๙ ประโยค เพราะว่าเขาถือว่าเทียบเท่าปริญญาตรีมาตั้งแต่ต้น เพียงแต่ว่าได้รับการระบุชัดเจนในพระราชบัญญัตินี้ จึงกลายเป็นเรื่องของกฎหมาย ที่ทำให้ความชัดเจนในเรื่องการศึกษาพระปริยัติธรรมได้ปรากฏชัดขึ้นมา
และอีกส่วนหนึ่งก็คือระบุให้สามเณรทุกรูปสามารถเข้าศึกษาตามโรงเรียนและศูนย์การศึกษานอกโรงเรียนทุกแห่ง มีสิทธิ์เทียบเท่ากับบุคคลทั่วไปของทางโลก ซึ่งสมัยก่อนนั้น ถ้าหากว่าบางโรงเรียนเห็นว่า การที่จะดูแลการศึกษาของสามเณร ซึ่งปะปนอยู่กับเด็กทั่วไปนั้น เป็นสิ่งที่ปฏิบัติได้ยาก เมื่อถึงเวลาไปสมัครเรียน ก็มักจะอ้างว่าไม่สามารถที่จะรับได้ แต่เมื่อมีพระราชบัญญัติการศึกษาพระปริยัติธรรมพุทธศักราช ๒๕๖๒ ขึ้นมา ก็จะทำให้โรงเรียนต่าง ๆ ไม่สามารถที่จะปฏิเสธได้ เนื่องเพราะว่าเป็นการผิดกฎหมายไปแล้ว..!
__________________
........................
เกิดมาทั้งที เอาดีให้ได้ ตายไปทั้งที ฝากดีเอาไว้ อยู่ให้เขาเกรงใจ ไปให้เขาคิดถึง
จะเช มัตตา สุขังธีโร ปัญญาชน พึงสละสุขส่วนตน เพื่อสุขยิ่งใหญ่ของส่วนรวม
แก้ไขครั้งสุดท้ายโดย สุธรรม : 18-01-2025 เมื่อ 02:34
|