ของบางอย่างถ้าเรารักที่จะทำดี ต้องมีจิตสำนึกอยู่ในลักษณะของ อัตตนา โจทยัตตานัง ก็คือต้องกล่าวโทษโจทย์ตนเองอยู่เสมอ ต้องตักเตือนตนเองอยู่เสมอ
วันเวลาล่วงไป ล่วงไป เราทั้งหลายทำอะไรกันอยู่ ?
ตัวเราติเตียนตัวเราเองโดยศีลได้หรือไม่ ?
ผู้รู้ติเตียนตัวเราโดยศีลได้หรือไม่ ?
คุณวิเศษของเรามีหรือไม่ ? เพื่อที่จะไม่เก้อเขินเวลาเพื่อนสหธรรมิกไต่ถาม
ไม่ใช่กี่ปี กี่ปีก็เหมือนเดิม ไม่ก็แย่ยิ่งกว่าเดิม..! แล้วครูบาอาจารย์ที่ไหนท่านจะอยู่ยั้งยืนยง มาคอยบ่น คอยว่า คอยบอกเราอยู่ตลอดเวลา เพราะว่าต่างคนต่างตาย ต่างคนต่างไปเหมือนกัน
ในเมื่อเป็นเช่นนั้น ขอให้พวกเราใช้ระยะเวลาห้าวันสี่คืน รักษาอารมณ์ใจของเราให้ดีที่สุดเท่าที่จะทำได้ ลองดูว่าระยะเวลาที่เหลือ เราสามารถที่จะทำตามตารางเวลาได้โดยไม่ขาดตกบกพร่องหรือไม่..? จะได้เป็นเครื่องวัดที่ดีว่าตัวเรามีความก้าวหน้าหรือว่าถอยหลัง..?
สำหรับในเรื่องของการปฏิบัติธรรม ทางวัดเราไม่ได้บังคับ ใครถนัดรูปแบบไหน ทำไปตามนั้น ยกเว้นตอนเดินจงกรมที่ต้องใช้การเดินในลักษณะของสติปัฏฐาน ๖ ระยะ เพราะว่าต้องการความพร้อมเพรียงในการทำ ส่วนเวลาที่เหลือเราถนัดแบบไหนให้ทำแบบนั้น
เรื่องของกรรมฐานอย่าเปลี่ยนบ่อย อย่าโยกย้ายบ่อย เพราะว่าถึงเวลาเราเปลี่ยนไปหาของใหม่ สภาพจิตที่มีความเคยชินและจดจำของเดิมได้ ก็จะเกิดการยื้อแย่งกันขึ้นมา ของเก่าก็ยังทำไม่ได้ ของใหม่ก็ทำได้ไม่ดี แล้วจะเอาความก้าวหน้าที่ไหนมา..?
โดยเฉพาะเรื่องของคำภาวนา ไม่ถือเป็นสาระ เพราะเป็นเครื่องโยงจิตให้เป็นสมาธิ ทำแบบไหนแล้วสมาธิของเราทรงตัวให้ทำแบบนั้น
__________________
........................
เกิดมาทั้งที เอาดีให้ได้ ตายไปทั้งที ฝากดีเอาไว้ อยู่ให้เขาเกรงใจ ไปให้เขาคิดถึง
จะเช มัตตา สุขังธีโร ปัญญาชน พึงสละสุขส่วนตน เพื่อสุขยิ่งใหญ่ของส่วนรวม
|