แต่ปรากฏว่าหลังจากที่ท่านได้ทำกายภาพอย่างต่อเนื่องมา จึงทำให้ตอนนี้สามารถที่จะเดินได้ โดยอาศัยเครื่องช่วยที่เรียกว่า "วอล์คเกอร์" ท่านเองก็ยังเมตตา จัดข้าวปลาอาหารเลี้ยงเพื่อนพระอุปัชฌาย์ด้วย บอกว่า "เป็นอาหารแบบบ้าน ๆ" ซึ่งกระผม/อาตมภาพกลับเห็นว่าอร่อยไปเสียทุกอย่าง ซ้ำยังมอบวัตถุมงคลมาให้คนละ ๑ ถุง โดยที่กราบเรียนกระผม/อาตมภาพที่เป็นประธานรุ่นว่า "สำหรับท่านประธานแล้วก็คงเป็นการเอามะพร้าวห้าวมาขายสวน" แต่กระผม/อาตมภาพเองต่อให้มีมะพร้าวเต็มสวน ถ้ามีใครเอามาเพิ่มให้ก็ยินดีรับไว้อยู่แล้ว..!
โดยเฉพาะวัดตลาดใหม่นี้เป็นวัดของอดีตพระเกจิอาจารย์ผู้ยิ่งใหญ่ท่านหนึ่งของจังหวัดอ่างทอง ก็คือหลวงพ่อซำ อินฺทสุวณฺโณ วัดตลาดใหม่ ซึ่งท่านมีชื่อเสียงโด่งดังจากการสร้างเบี้ยแก้สายอ่างทอง ซึ่งสายอ่างทองนั้นต้องบอกว่าประกอบไปด้วยเสือสิงห์กระทิงแรด บรรดาพระเกจิอาจารย์โด่งดังมีอยู่ในจังหวัดนี้มากมายเต็มไปหมด โดยเฉพาะในเขตอำเภอวิเศษชัยชาญ เมืองคนกล้าวีรชนบางระจัน ซึ่งพื้นที่ก็ไปต่อเนื่องกับอำเภอบางระจันของวัดม่วงชุม ที่พระมหาจินตวัฒน์ท่านอยู่นั่นเอง
ในยุคนั้นเขามีคำพูดคล้องจองกันว่า "โปร่งท่าช้าง นุ่มนางใน คำโพธิ์ปล้ำ ซำตลาดใหม่" หมายถึงพระเกจิอาจารย์ ๔ รูปที่โด่งดังมากในด้านเบี้ยแก้ เพียงแต่ว่าหลวงพ่อซำนั้นท่านมีอาวุโสสูงสุด แม้แต่หลวงพ่อโปร่ง วัดท่าช้างที่มีชื่อเสียงเทียบเคียงกันได้ ก็ยังเป็นลูกศิษย์ของท่านเลย
แต่ในจำนวนนี้ที่โด่งดังที่สุดก็คือหลวงพ่อคำ วัดโพธิ์ปล้ำ เนื่องเพราะว่าเบี้ยแก้สารพัดกันของท่านนั้น มีการบรรจุปรอทสำเร็จเข้าไปด้วย ถึงเวลาเขย่าแล้วจะมีเสียงดังแซก ๆ ที่ไม่เหมือนกับของเกจิอาจารย์รูปอื่น อีกท่านหนึ่งก็คือหลวงพ่อนุ่ม วัดนางในธัมมิการาม ซึ่งท่านมีวัตถุมงคลอื่น ๆ อีกหลายอย่าง ที่โด่งดังไม่แพ้เบี้ยแก้ แต่ถ้าหากนับเบี้ยแก้สายอ่างทองแล้ว ก็ต้อง ๔ ท่านนี้เป็นหลัก
ในเมื่อเป็นเช่นนั้น ทางด้านพระครูปรเมษฐ์ ต้องบอกว่าเป็นคนที่เกิดบ้านนี้เอง แม้จะไม่ทันยุคทันสมัยของหลวงพ่อซำก็ตาม แต่ว่าในเมื่อมาอยู่วัดนี้ ตำรับตำราต่าง ๆ มีอยู่ ท่านก็ศึกษาค้นคว้า แล้วก็พัฒนาวัด ตลอดจนกระทั่งสร้างวัตถุมงคลขึ้นมา จนกระทั่งกลายเป็นที่พึ่งให้กับชาวบ้านได้ในระดับมีชื่อเสียงในท้องถิ่นเลยทีเดียว
__________________
........................
เกิดมาทั้งที เอาดีให้ได้ ตายไปทั้งที ฝากดีเอาไว้ อยู่ให้เขาเกรงใจ ไปให้เขาคิดถึง
จะเช มัตตา สุขังธีโร ปัญญาชน พึงสละสุขส่วนตน เพื่อสุขยิ่งใหญ่ของส่วนรวม
แก้ไขครั้งสุดท้ายโดย สุธรรม : 07-01-2025 เมื่อ 00:49
|