การตั้งนะโมฯ ๕ ชั้น เพื่อที่จะขึ้นอุเทศนั้น เราก็ตั้งนะโมฯ โดยซักซ้อมมาก่อน แต่ว่าคำสุดท้ายของนะโมจะต่อกับคำแรก อย่างเช่นว่า นะโมตัสสะ ภะคะวะโต อะระหะโต สัมมาสัมพุทธัสสะนะโมตัสสะฯ อยู่ในลักษณะเหมือนกับ ธัสสะนะโม ต่อกันไปเลย
เมื่อถึงเวลาขึ้นอุเทศบาลีเราก็ต้องดู ถ้าหากว่าคำท้ายไม่มีติ เราก็ลงติ ก็คืออยู่ในลักษณะของการลากเสียงเล็กน้อย แต่ถ้าคำท้ายลงติอยู่แล้ว เราก็ต้องทีฆะติเป็นตีติ
เมื่อตั้งอุเทศแล้วก็ค่อยเข้าสาธยายนิเทศ แล้วก็จบด้วยปฏินิเทศ คำว่าอุเทศก็คือหัวข้อในการเทศน์ที่ตั้งเป็นภาษาบาลี นิเทศก็คืออธิบายขยายความให้แจ่มแจ้ง สามารถจูงใจให้บุคคลสนใจที่ประพฤติปฏิบัติตาม จนกระทั่งเกิดความกล้าหาญ สามารถมอบกายถวายชีวิตเพื่อธรรมะได้
แต่ถ้าหากว่าไม่ใช่งานศพ ก็ควรที่จะมีความรื่นเริงในธรรมบ้าง โดยที่มีข้อจำง่าย ๆ ว่า แจ่มแจ้ง จูงใจ แกล้วกล้า ร่าเริง ซึ่งมาจากบาลีที่ว่าสันทัสสนา ก็คือแสดงอย่างแจ่มแจ้ง สมาทปนา จูงใจให้ผู้ฟังปฏิบัติตาม สมุตเตชนา ก็คือทำให้เกิดความแกล้วกล้า มอบกายถวายชีวิตในการปฏิบัติธรรม และ สัมปหังสนา ก็คือแฝงความรื่นเริงในธรรมเอาไว้ด้วย
ครั้นเมื่อไปถึงตอนท้ายแล้ว ก็สรุปจบให้ตรงกับหัวข้อที่เราเทศน์ไว้ โดยมีหลักการที่ว่า ต้นตื่นเต้น กลางกลมกล่อม จบจับใจ ถ้าอยู่ในลักษณะอย่างนี้ ท่านก็จะเป็นนักเทศน์ที่ดีได้
ถ้าหากว่าเป็นสถานที่อย่างเป็นทางการ ซึ่งจะมีพระสวดรับเทศน์หรือว่าสวดมาติกาต่อไปเลย เขาจะจัดสถานที่อาสนะแรกเอาไว้ให้พระนักเทศน์เสมอ เราจะต้องลงไปนั่งยังสถานที่นั้นเพื่อรับปัจจัยไทยธรรมที่ญาติโยมถวายมา ไม่ว่าท่านจะพรรษาน้อยเท่าไรก็ตาม โดนบังคับว่าต้องนั่งหัวแถว ส่วนอีก ๔ ท่านหรือว่า ๑๐ ท่านที่นั่งอยู่ ไม่ว่าจะเป็น ๑๐ ท่านที่สวดศราทพรต หรือว่า ๔ ท่านที่สวดมาติกาก็ตาม ต่อให้สมณศักดิ์และพรรษายิ่งใหญ่ขนาดไหน เราก็ต้องนั่งหัวแถว จนกว่างานนั้นจะจบลง
__________________
........................
เกิดมาทั้งที เอาดีให้ได้ ตายไปทั้งที ฝากดีเอาไว้ อยู่ให้เขาเกรงใจ ไปให้เขาคิดถึง
จะเช มัตตา สุขังธีโร ปัญญาชน พึงสละสุขส่วนตน เพื่อสุขยิ่งใหญ่ของส่วนรวม
แก้ไขครั้งสุดท้ายโดย สุธรรม : 03-01-2025 เมื่อ 09:29
|