ในส่วนของอธิจิตนั้น พระพุทธเจ้าสอนให้เราทรงฌานในระดับใดระดับหนึ่งให้ได้ จะเป็นฌานที่ ๑ ที่ ๒ ที่ ๓ ที่ ๔ ของรูปฌานก็ดี จะเป็นฌานในอากาสานัญจายตนะ ในวิญญาณัญจายตนะ ในอากิญจัญญายตนะ หรือในเนวสัญญานาสัญญายตนะของอรูปฌานก็ดี ขั้นใดขั้นหนึ่ง ให้ทรงตัวคล่องแคล่ว ต้องการจะเข้าฌานเมื่อไรก็เข้าได้ ถ้าทำดังนี้ได้ ก็เท่ากับว่าท่านได้เจริญในเรื่องของอธิจิต ตามที่องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าทรงตรัสสอนไว้
ในส่วนของอธิปัญญา คือ ปัญญาอันยิ่งนั้น ก็เป็นไปตามลำดับกำลังใจที่ก้าวล่วงไปสู่มรรคผลของเรา ถ้าเป็นกำลังใจของพระโสดาบัน ก็จะมีความรู้สึกว่าเราต้องตายอยู่เสมอ รู้ตัวว่าเราต้องตายอย่างแน่นอน ก็จะกำหนดกำลังใจว่า ถ้าเราตายเมื่อไร เราขอไปพระนิพพานแห่งเดียว กำลังใจของพระสกิทาคามีก็ใกล้เคียงกัน เพียงแต่ว่าในเรื่องของรัก โลภ โกรธ บรรเทาเบาบางลงไปมาก
ในกำลังใจของพระอนาคามีนั้น จะเห็นร่างกายนี้มีความสกปรกโสโครกเป็นปกติ ไม่มีความยินดี ไม่มีความปรารถนาในร่างกายของเรา หรือร่างกายของบุคคลอื่น ร่างกายของสัตว์ เป็นต้น เป็นผู้ที่มีความรังเกียจร่างกายอย่างแท้จริง
ส่วนในกำลังใจสุดท้ายนั้น เห็นว่าร่างกายนี้ไม่ใช่เรา ไม่ใช่ของเราอย่างแท้จริง โดยที่กำลังใจมีความเชื่อมั่นเพราะรู้แจ้งเห็นจริงแบบนั้น จึงหนักแน่นไม่คลอนแคลน ไม่เคยเห็นความดีของขันธ์ ๕ ไม่เคยเห็นความดีในโลกนี้ ปรารถนาที่จะหลุดพ้นไปจากร่างกายนี้ ปรารถนาจะหลุดพ้นจากโลกนี้โดยส่วนเดียว ถ้าอย่างนี้จะเป็นกำลังใจสูงสุด ที่องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าพึงปรารถนาไว้
__________________
........................
เกิดมาทั้งที เอาดีให้ได้ ตายไปทั้งที ฝากดีเอาไว้ อยู่ให้เขาเกรงใจ ไปให้เขาคิดถึง
จะเช มัตตา สุขังธีโร ปัญญาชน พึงสละสุขส่วนตน เพื่อสุขยิ่งใหญ่ของส่วนรวม
แก้ไขครั้งสุดท้ายโดย เถรี : 04-04-2010 เมื่อ 22:36
|