ดูแบบคำตอบเดียว
  #3  
เก่า 16-12-2024, 22:15
เถรี's Avatar
เถรี เถรี is offline
ผู้ดูแลเว็บ - ยืนยันตัวตนแล้ว
 
วันที่สมัคร: Jan 2009
ข้อความ: 32,387
ได้ให้อนุโมทนา: 157,933
ได้รับอนุโมทนา 4,479,545 ครั้ง ใน 35,996 โพสต์
เถรี is on a distinguished road
Default

ประการที่สาม กิจฺฉํ สทฺธมฺมสฺสวนํ การที่จะได้ฟังธรรมนั้นเป็นเรื่องที่แสนยาก เพราะว่ากว่าจะมีองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าปรากฏขึ้นมานั้น อย่างน้อยต้องบำเพ็ญบารมีถึง ๔ อสงไขยกับแสนมหากัป

ถ้าเราจะนับอายุมหากัปก็ต้องเริ่มจาก ๑ รอบอันตรกัป ก็คือระยะเวลาที่เราตั้งเลข ๑ ขึ้นมา แล้วต่อด้วยเลข ๐ จำนวน ๑๔๐ ตัว ระยะเวลาที่ยาวนานไป บุคคลมีความชั่วแทรกเข้ามาทีละเล็กทีละน้อย อายุขัยของมนุษย์ก็ลดลงไปเรื่อย ผ่านไป ๑๐๐ ปีลดลง ๑ ปี ผ่านไป ๑๐๐ ปีลดลง ๑ ปี

จากเลข ๑๔๑ หลักลดลงมาถึงเลข ๒ หลัก คือ ๑๐ ปีโดยประมาณ แล้วเกิดมิคสัญญีฆ่าฟันกัน ชนิดที่จดจำกันไม่ได้ว่าใครเป็นพ่อแม่พี่น้อง บุคคลที่เกิดความสลดใจก็หันไปรักษาศีล เจริญภาวนา เมื่อความดีเกิดขึ้นก็ลักษณะเดียวกันว่า ระยะเวลาผ่านไป ๑๐๐ ปี อายุก็เพิ่มขึ้น ๑ ปี ผ่านไป ๑๐๐ ปี อายุก็เพิ่มขึ้น ๑ ปี จนกระทั่งอายุขัยมนุษย์กลับไปยั่งยืนด้วยตัวเลข ๑๔๑ หลักเท่าเดิม จากสูงสุดลงมาต่ำสุด จนย้อนกลับไปสูงสุด เรียกว่า ๑ รอบอันตรกัป เป็นเวลาที่ยาวนานจนนับไม่ได้..!

อรรถกถาจารย์เปรียบไว้ว่าเหมือนมีถังเหล็กใบหนึ่ง กว้าง ๑ โยชน์ ยาว ๑ โยชน์ สูง ๑ โยชน์ ก็คือด้านละ ๑๖ กิโลเมตร เพราะว่าโยชน์หนึ่งมี ๔๐๐ เส้น หนึ่งเส้นมี ๒๐ วา เท่ากับด้านหนึ่ง ๘,๐๐๐ วา เทียบเท่า ๑๖,๐๐๐ เมตร คือ ๑๖ กิโลเมตร..! ระยะเวลา ๑๐๐ ปี เอาเมล็ดพันธุ์ผักกาดที่ละเอียดเหมือนทรายละเอียดที่กรองดีแล้วหย่อนลงไปเมล็ดหนี่ง ๑๐๐ ปีผ่านไปหย่อนลงไปเมล็ดหนึ่ง เมล็ดพันธุ์ผักกาดเต็มถังนั้นแล้วยังไม่ได้ ๑ รอบอันตรกัปดี แล้วท่านทั้งหลายคิดว่าจะมีโอกาสหย่อนเมล็ดแรกไหม ?

แล้วจากนั้น ๑ รอบอันตรกัปที่ยาวนานขนาดนั้น ๖๔ รอบอันตรกัปจึงเท่ากับ ๑ อสงไขยกัป ๔ อสงไขยกัปจึงเท่ากับ ๑ มหากัป เท่ากับว่า ๑ มหากัปท่านจะต้องหย่อนเมล็ดพันธุ์ผักกาดให้เต็มถังมหายักษ์นั้น ๒๕๖ ถัง..! แค่เศษของการปฏิบัติเพื่อความเป็นพระพุทธเจ้าแสนมหากัป เราก็ไม่ทราบว่ายาวนานเท่าไร แล้วนี่ยังเป็นอสงไขยของแสนมหากัปอีก..!

คำว่า อสงไขย หรือ อสังขยา ที่แปลว่านับประมาณไม่ได้ เป็นเพราะว่าเราใช้ชีวิตมนุษย์ แม้กระทั่งเมล็ดพันธุ์ผักกาดเมล็ดแรกเราก็อยู่ไม่ถึงที่จะหย่อนลงไป เราจึงนับไม่ได้ แต่พรหมเทวดาท่านอายุขัยยืนยาวมาก โดยเฉพาะถ้าหากว่าเป็นพรหมชั้นท้าย ๆ ท่านสามารถนับได้ หรือผู้ที่ทรงอภิญญาสมาบัติ ใช้ความเป็นทิพย์สามารถคำนวณได้ ระยะเวลาที่ยาวนานปานนั้นกว่าจะมีพระพุทธเจ้าปรากฏขึ้นมาพระองค์หนึ่ง

จึงเข้ากับข้อสุดท้ายที่ว่า กิจฺโฉ พุทฺธานมุปฺปาโท การเกิดของพระพุทธเจ้านั้นยากเป็นที่สุด
__________________
........................

เกิดมาทั้งที เอาดีให้ได้ ตายไปทั้งที ฝากดีเอาไว้ อยู่ให้เขาเกรงใจ ไปให้เขาคิดถึง

จะเช มัตตา สุขังธีโร ปัญญาชน พึงสละสุขส่วนตน เพื่อสุขยิ่งใหญ่ของส่วนรวม

แก้ไขครั้งสุดท้ายโดย สุธรรม : 17-12-2024 เมื่อ 02:08
ตอบพร้อมอ้างอิงข้อความเดิม
สมาชิก 32 คน ได้กล่าว "อนุโมทนา" กับคุณ เถรี ในข้อความที่เขียนด้านบน
แสดง/ซ่อน รายชื่อผู้อนุโมทนา