อันดับแรกเลย จะให้ผู้ปฏิบัติธรรมมานั่งสมาธิภาวนา หรือเดินจงกรมภาวนาอย่างเดียว นาน ๆ ไปก็ย่อมเกิดความอึดอัดขัดข้อง แต่ถ้าหากว่าให้เปลี่ยนเป็นการสวดมนต์เสียบ้าง ก็เท่ากับเป็นการผ่อนคลายไปได้ในระดับหนึ่ง ช่วยให้การปฏิบัติธรรมไม่ซ้ำซากจำเจ สามารถที่จะมีความก้าวหน้าได้ง่ายขึ้น
ประการที่สอง การสวดมนต์นั้นต้องมีสมาธิ พวกเราต้องสังเกตว่าถ้าเผลอขาดสติ เราจะสวดผิดทันที ขนาดล่มทั้งวัดมาแล้ว..! ก็เพราะว่าผู้นำหยุดหายใจ ที่เหลือสักแต่ว่าสวดตาม ๆ ไป กำลังใจไม่ได้จดจ่อก็คิดว่าหัวแถวสวดผิด แล้วพร้อมใจกันหยุด จึงทำให้การสวดมนต์นั้นล่ม แล้วก็ต้องเริ่มต้นกันใหม่ ก็แปลว่าถ้าไม่มีสมาธิในเบื้องต้น เราจะสวดมนต์ไม่ได้
ประโยชน์ข้อต่อไปก็คือ ถ้าหากว่าท่านทั้งหลายปฏิบัติธรรมจนมีความคล่องตัวแล้ว การสวดมนต์ทุกอย่างก็คือการภาวนา เพียงแต่ว่าเป็นคำภาวนาที่ยาวอยู่สักหน่อย ก็คือไม่ว่าเราจะสวดมนต์อะไรก็ตาม ก็ควบคู่กับลมหายใจเข้าออกไปด้วย เท่ากับว่าเป็นคำภาวนาไปในตัว เท่ากับว่าเป็นการซักซ้อมในเรื่องของความชำนาญในการทรงสมาธิ โดยเฉพาะเป็นสมาธิใช้งาน ก็คือขณะที่พูดหรือว่าทำสิ่งหนึ่งประการใด เราก็สามารถที่จะทรงสมาธิเอาไว้ได้
ประโยชน์ข้อต่อไปก็คือ ถ้าสามารถทำเป็น เราสร้างทิพจักขุญาณให้เกิดขึ้นได้ ก็คือถึงเวลาเราสวดภาวนาไป ก็นึกถึงอักขระตัวหนังสือของคำสวดนั้นขึ้นมาตรงหน้าของเรา จะเป็นทีละคำหรือทีละประโยค ก็แล้วแต่ความถนัดของแต่ละคน ช่วยให้จิตมุ่งมั่นจดจ่ออยู่กับการสวดมนต์ได้ดียิ่งขึ้น แล้วถ้าเราสามารถเห็นอักขระนั้นได้ชัดเจนเท่าไร เราก็สามารถปรับใช้ไปในการเห็นผีเห็นเทวดาได้ชัดเจนเท่านั้น ก็แปลว่าท่านสามารถสร้างทิพจักขุญาณขึ้นได้จากการสวดมนต์
เมื่อได้ทิพจักขุญาณแล้ว ถ้าท่านใช้ในการดูอดีตก็จะเป็น อตีตังสญาณ
ใช้ในการดูอนาคตจะเป็น อนาคตังสญาณ
ใช้ดูว่าปัจจุบันนี้แต่ละคนใครทำอะไรที่ไหนบ้าง ก็เป็น ปัจจุปปันนังสญาณ
ใช้ในการระลึกชาติ ก็เป็น ปุพเพนิวาสานุสติญาณ
ใช้ในการดูว่าคนเราก่อนเกิดมาจากไหน ตายแล้วจะไปไหน ก็เป็น จุตูปปาตญาณ
ใช้ในการดูว่าบุคคลทำสิ่งนี้แล้วจะได้รับผลดีผลชั่วอย่างไร ก็เป็น ยถากัมมุตาญาณ
และท้ายที่สุด ถ้าเห็นสิ่งทั้งหลายเหล่านี้แล้วเกิดความเบื่อหน่าย คลายกำหนัด ถอนจิตจากความยึดมั่นถือมั่นได้ ก็จะกลายเป็น อาสวักขยญาณ
__________________
........................
เกิดมาทั้งที เอาดีให้ได้ ตายไปทั้งที ฝากดีเอาไว้ อยู่ให้เขาเกรงใจ ไปให้เขาคิดถึง
จะเช มัตตา สุขังธีโร ปัญญาชน พึงสละสุขส่วนตน เพื่อสุขยิ่งใหญ่ของส่วนรวม
แก้ไขครั้งสุดท้ายโดย สุธรรม : 04-12-2024 เมื่อ 02:29
|