ก่อนปฏิบัติธรรมช่วงเช้า วันอาทิตย์ที่ ๑๗ พฤศจิกายน ๒๕๖๗
ไปไหนกันหมดจ๊ะ หนีกลับบ้านแล้ว ? กลับมาก่อน..! หลวงพ่อฉันเสร็จ เก็บบาตร ล้างหน้า แปรงฟัน แต่งตัวใหม่ เก็บของขึ้นรถ แล้วค่อยมานี่ ดูสิว่าใช้เวลาไปกี่นาที ? ตอนนี้ก็พร้อมเดินทาง เดี๋ยวนำพวกเราสมาทานพระกรรมฐานเสร็จ ก็วิ่งไปคุมสอบแล้ว
นี่คือผลของการปฏิบัติธรรม เรายิ่งปฏิบัติธรรมมากขึ้น สภาพจิตจะยึดเกาะสิ่งต่าง ๆ น้อยลงไปเรื่อย ถ้าศัพท์สวย ๆ เขาบอก "คายกากเหลือแต่แก่น" คราวนี้พอสิ่งรุงรังน้อยลงเรื่อย ก็จะทำอะไรเร็วขึ้นเรื่อย แต่เป็นการทำที่เร็วแบบมีสติ โอกาสผิดพลาดน้อยมาก เพราะฉะนั้น..ในเวลาที่เท่า ๆ กัน บุคคลที่ปฏิบัติธรรมมามาก สติสมบูรณ์มาก จะทำอะไรได้มากกว่าบุคคลที่สติสมบูรณ์น้อยกว่า นี่เป็นเครื่องวัดที่ชัด ๆ เลย..!
แล้วถามว่า "ทำไมทำอะไรเร็วขึ้นไปเรื่อย ๆ ไม่ใช่ทำแล้วช้าลง ?" ทำแล้วช้าลงนั่นเป็นพวกเด็กฝึกหัด ที่ต้องหัดเดินเตาะแตะทีละก้าว คนที่เก่งแล้วโน่น..เขาแข่งวิ่ง ๑๐๐ เมตรโอลิมปิกโน่น..!
เนื่องเพราะว่ากิเลสเกิดเร็วมาก ถ้าจิตของเราเร็วไม่ทัน จะต่อต้านกิเลสไม่ได้ ถามว่ากิเลสเกิดเร็วมากนั้น เร็วขนาดไหน ? มองไปเห็นเป็นผู้หญิงผู้ชายนี่ก็เจ๊งแล้ว ไม่เหลือแล้ว เพราะว่าเริ่มปรุงแต่งไปแล้ว ถ้ามองไปสักแต่เห็นว่าเป็นรูป สักแต่เห็นว่าเป็นธาตุก็จบ มองไปเห็นเป็นผู้หญิงผู้ชายนี่ สภาพจิตของเราเปิดให้กิเลสเข้ามาเต็ม ๆ แล้ว..!
เพราะว่าพอเราเห็นปุ๊บก็จะเลือก เลือกสิ่งที่ชอบ ผลักไสสิ่งที่ไม่ชอบ ชอบก็เป็นราคะ ไม่ชอบก็เป็นโทสะ กิเลสกินเราทั้งขึ้นทั้งล่อง..!
สติจึงต้องสมบูรณ์และรู้เท่าทัน ทันทีที่ตาเห็นรูป ถ้าสติสมบูรณ์ ปัญญาพร้อม ก็จะแยกแยะภายในไม่ถึง ๑ วินาทีว่า ถ้าคิดแบบนี้จะก่อให้เกิดโทษเกิดกิเลสแบบไหน ตั้งแต่ต้นยันปลาย จะเห็นไปตลอดเลย
แต่ถ้าคิดแบบนี้จะก่อให้เกิดคุณ ทำให้จิตของเราผ่องใสขึ้นได้อย่างไร จะบอกได้หมด แล้วพอถึงตอนนั้นสภาพจิตก็จะเลือกเอาในส่วนที่ดีกับตัวเอง เขาถึงได้เรียกว่ากุศล คือความฉลาด ฉลาดในการเลือกสิ่งที่ดี ๆ ให้กับตนเอง ฉลาดในการละสิ่งที่ไม่ดีออกจากใจของตน
ในเมื่อเป็นเช่นนั้น พวกเราก็มีหน้าที่สร้างสติให้เกิด ถามว่าต้องสร้างขนาดไหนถึงจะพอ ? จริง ๆ แล้วยิ่งมากยิ่งดี แต่ถ้าเอาระดับหลับกับตื่นรู้เท่ากันได้ก็พอที่จะเอาตัวรอดได้
__________________
........................
เกิดมาทั้งที เอาดีให้ได้ ตายไปทั้งที ฝากดีเอาไว้ อยู่ให้เขาเกรงใจ ไปให้เขาคิดถึง
จะเช มัตตา สุขังธีโร ปัญญาชน พึงสละสุขส่วนตน เพื่อสุขยิ่งใหญ่ของส่วนรวม
แก้ไขครั้งสุดท้ายโดย พิชวัฒน์ : 14-12-2024 เมื่อ 08:55
|