ถ้าเป็นรุ่นอาตมภาพเรียนหนังสืออยู่ชั้นประถมนี่ยังใช้เงินสตางค์อยู่ ก็จะมีท็อฟฟี่ใหญ่เกือบเท่าลูกปิงปอง สีเขียว ๆ แดง ๆ เม็ดละ ๑๐ สตางค์ ถ้าซื้อ ๓ เม็ดคิดหนึ่งสลึง เขาบอกว่า "เม็ด" แต่อาตมาเรียกว่า "ลูก" เพราะว่าใหญ่มาก ก็คือเส้นผ่าศูนย์กลางประมาณเหรียญ ๑๐ บาทสมัยนี้ แล้วก็ยาวเกือบ ๒ นิ้ว สมัยนั้นยังใช้สตางค์อยู่ ก๋วยเตี๋ยวชามละสลึงเท่านั้น
แม่ให้เงินไปครั้งแรกที่เข้าเรียนกับน้องชาย ๕๐ สตางค์ ไม่รู้ว่าเงินใหญ่แค่ไหน เพราะว่าไม่เคยใช้ พระน้องชายตอนนั้นก็เข้าเรียนชั้น ป. ๑ อาตมาอยู่ ป. ๓ น้องเขาก็บอกว่า "อยากกินข้าวเหนียวทุเรียน" ด้วยความที่ไม่เคยใช้เงินก็ไปบอกกับแม่ค้าว่า "เอาข้าวเหนียวทุเรียน" แม่ค้าถามว่า "เอาเท่าไร ?" ก็ยื่นเหรียญ ๕๐ สตางค์ให้ เหรียญใหญ่เท่าเหรียญ ๑๐ บาทสมัยนี้ เป็นเหรียญดำ ๆ รูปในหลวงรัชกาลที่ ๘
แม่ค้าก็ทำตาโต "กินหมดหรือ ?" ก็บอกว่า "หมด" แม่ค้าก็เลยตักให้ ราดน้ำทุเรียนมาเสร็จสรรพเรียบร้อย ได้มากะละมังย่อม ๆ เลย..! มารู้ทีหลังว่าก๋วยเตี๋ยวชามละสลึงเดียว แล้วเราไปซื้อข้าวเหนียวทุเรียน ๕๐ สตางค์..! จนกระทั่งมาเรียนมัธยมแล้ว ก๋วยเตี๋ยวยังชามละบาทเดียว ปีที่เข้าเรียนมัธยม ปีพ.ศ. ๒๕๑๖ ก๋วยเตี๋ยวยังชามละบาทเดียว เกิดกันทันหรือเปล่าปี ๒๕๑๖ ?
ก็ด้วยความที่ว่าพระเราขาดความเป็นพระได้ง่าย ก็ต้องระวังตัวสุดขีด แต่ถ้าหากว่าเป็นพระพม่านี่ขาดความเป็นพระยากหน่อย เพราะเขาตีความว่า ๕ มาสกของพระพม่าเทียบเท่าทองคำ ๑ สลึง..! โอ้พระเจ้า..สมัยนี้เทียบเป็นเงินไทยหมื่นกว่าบาท ในขณะที่ของเรายังบาทเดียวเท่าเดิม..!
อาตมาไปอยู่พม่าหกปี ไม่ได้อยู่ยาวหรอก ก็ไปบ้างกลับบ้าง เพราะว่าไปสร้างวัด แล้วก็ไปเที่ยว ถามพระพม่าว่าเขาคิดอย่างไรถึงได้ ๕ มาสกเท่ากับทองคำหนึ่งสลึง เขาเปรียบมาตราโบราณให้ พระของเราที่เรียนนักธรรมชั้นตรี ไปดูท้ายเล่มวินัยมุขเล่มหนึ่งได้นะ มีมาตราโบราณอยู่
๔ เมล็ดข้าวเปลือกเท่ากับ ๑ กุญชา
๒ กุญชาเท่ากับ ๑ มาสก
แปลว่า ๘ เมล็ดข้าวเปลือกเท่ากับ ๑ มาสก
ดังนั้น ๕ มาสก ก็เท่ากับ ๔๐ เมล็ดข้าวเปลือก
เขาเอาข้าวเปลือก ๔๐ เมล็ดไปชั่งน้ำหนัก บอกว่าเท่ากับทองคำหนึ่งสลึง..!
__________________
........................
เกิดมาทั้งที เอาดีให้ได้ ตายไปทั้งที ฝากดีเอาไว้ อยู่ให้เขาเกรงใจ ไปให้เขาคิดถึง
จะเช มัตตา สุขังธีโร ปัญญาชน พึงสละสุขส่วนตน เพื่อสุขยิ่งใหญ่ของส่วนรวม
แก้ไขครั้งสุดท้ายโดย สุธรรม : 30-11-2024 เมื่อ 20:07
|