พอหลวงปู่พุกมรณภาพไป ชาวบ้านก็นิมนต์หลวงปู่เต๊อะเน็ง โอภาโส ท่านเป็นชาวกะเหรี่ยง ธุดงค์ข้ามมาจากฝั่งพม่า มาเป็นเจ้าอาวาสบริหารวัดอยู่ ๕ ปี แล้วท่านก็ธุดงค์กลับประเทศพม่าไป
วัดท่าขนุนก็ร้างอยู่หลายปี จนปี ๒๔๙๕ หลวงปู่สาย อคฺควํโส อดีตเจ้าอาวาส สังขารท่านอยู่ทางโน้น มรณภาพมา ๓๐ กว่าปีแล้ว ยังไม่เน่าไม่เปื่อย ท่านเป็นลูกศิษย์หลวงปู่เดิม วัดหนองโพธิ์ ท่านธุดงค์มาถึงที่นี่ เห็นว่า "เออ..เป็นวัดร้าง เงียบสงบดี ไม่มีใครรบกวน" ท่านก็เลยมาปักกลด ปฏิบัติภาวนาอยู่ ชาวบ้านเห็นวัตรปฏิบัติแล้วก็ชอบใจ นิมนต์ให้ท่านเป็นเจ้าอาวาส ท่านไม่รับปาก ท่านบอกว่าจะไปไหว้พระเจดีย์ชเวดากองที่ทางฝั่งพม่าโน้น
สมัยนั้นไปยากมาก สมัยอาตมานี่ยังไปยากเลย เพราะว่าทางจากช่วงด่านเจดีย์สามองค์ วิ่งไปถึงเมืองแรกของพม่า ชื่อเมืองตันบวยเซียด ถ้าออกเสียงช้า ๆ ออกเสียงว่าตันบูซายัด ซึ่งเป็นที่สุดทางรถไฟสายมรณะ ทางรถไฟสายมรณะสมัยสงครามโลกครั้งที่ ๒ สร้างจากบ้านหนองปลาดุกที่ราชบุรี ขึ้นมาผ่านเมืองกาญจน์ ไทรโยค ทองผาภูมิ สังขละบุรี ทะลุไปถึงเมืองตันบวยเซียดของพม่า
จากด่านเจดีย์สามองค์ไปถึงตันบวยเซียดเป็นระยะทาง ๑๐๗ กิโลเมตร โยมลองเดาดูสิว่า สมัยอาตมาใช้เวลานั่งรถกี่วันกว่าจะถึง ? ถ้าหากว่าถนนแห้ง รถดี ระยะทาง ๑๐๗ กิโลเมตรต้องค้างกลางทาง ๑ คืน ระยะทาง ๑๐๗ กิโลเมตรถ้าค้าง ๑ คืน อาตมาเดินยังถึงเลย แต่ของทางฝั่งพม่านี่เขาต้องทั้งขุดทั้งเข็นไปเรื่อย พม่าไม่ยอมให้ทำถนน เขากลัวว่าถ้าถนนดี ๆ แล้วชาวบ้านมาเห็นความเจริญฝั่งไทย แล้วจะไปประท้วงรัฐบาล เขาก็เลยไม่ยอมให้ทำถนน ดังนั้น..สมัยอาตมายังลำบากขนาดนี้ สมัยหลวงปู่สายไม่ต้องห่วง ป่าเสือป่าช้างทั้งนั้นเลย..!
พอมาปี ๒๔๙๖ ท่านกลับมาปักกลดที่นีอีกครั้งหนึ่ง ก็คือกลับจากฝั่งพม่ามา ชาวบ้านก็นิมนต์ท่านเป็นเจ้าอาวาสอีกครั้ง ท่านบอกว่า "ครูบาอาจารย์ยังอยู่" ก็คือหลวงปู่น้อย เตชปุญฺโญ (พระครูนิพันธ์ธรรมคุต) วัดหนองโพธิ์ ท่านเป็นอาจารย์คู่สวด และเป็นเจ้าอาวาส ท่านบอกว่า "ต้องไปขอกับท่านอาจารย์ ถ้าพระอาจารย์อนุญาตถึงจะมา"
__________________
........................
เกิดมาทั้งที เอาดีให้ได้ ตายไปทั้งที ฝากดีเอาไว้ อยู่ให้เขาเกรงใจ ไปให้เขาคิดถึง
จะเช มัตตา สุขังธีโร ปัญญาชน พึงสละสุขส่วนตน เพื่อสุขยิ่งใหญ่ของส่วนรวม
แก้ไขครั้งสุดท้ายโดย สุธรรม : 28-11-2024 เมื่อ 10:24
|