วันนี้ตรงกับวันอังคารที่ ๒๖ พฤศจิกายน พุทธศักราช ๒๕๖๗ ภารกิจสำคัญของกระผม/อาตมภาพในวันนี้ก็คือ การเข้าร่วมประชุมพระสังฆาธิการในระดับเจ้าคณะอำเภอ รองเจ้าคณะอำเภอ เจ้าคณะตำบล และเลขานุการ ในเขตปกครองคณะสงฆ์อำเภอทองผาภูมิ และร่วมงานติดตามตรวจเยี่ยมเพื่อประเมินผลโครงการวัด ประชา รัฐ สร้างสุข ในระดับหน ที่วัดปรังกาสี หมู่ที่ ๓ ตำบลท่าขนุน อำเภอทองผาภูมิ จังหวัดกาญจนบุรี
แต่ปรากฏว่าไปถึงแล้ว การประชุมกลายเป็นการจับกลุ่มสนทนากันเท่านั้น เพราะว่าทางด้านเจ้าหน้าที่ตรวจประเมินโครงการ วัด ประชา รัฐ สร้างสุขมาเร็วกว่าที่คิด เนื่องเพราะว่าอำเภอทองผาภูมิของเรานั้นไกลมาก สำหรับบุคคลอื่น จึงต้องเผื่อเวลาในการเดินทาง แม้แต่พระเดชพระคุณพระเทพปริยัติโสภณ, ดร. (ปัญญา วิสุทฺธิปญฺโญ ป.ธ. ๙) เจ้าคณะจังหวัดกาญจนบุรี ก็ยังมาถึงกันแต่เช้า แล้วคณะกรรมการตรวจประเมินในระดับหนก็ทยอยติดตามกันมา และมีการโทรศัพท์สอบถามเส้นทางกันเป็นระยะ
คราวที่แล้วในการตรวจประเมินในระดับภาค ปรากฏว่าวัดปรังกาสีนั้นได้ที่ ๑ ในการตรวจประเมินของภาค ๑๔ รอบนี้จึงเป็นการแข่งขันกันใน ๖ ภาคของหนกลางว่า การตรวจประเมินรอบนี้คะแนนของใครจะสูงสุด ก็จะได้ที่ ๑ ของหนไปโดยปริยาย ซึ่งตรงนี้ต่างกับโครงการหมู่บ้านรักษาศีล ๕ ที่กระผม/อาตมภาพไปทำการตรวจประเมิน
ไม่ทราบเหมือนกันว่าข้อมูลในการให้คะแนนของโครงการหมู่บ้านรักษาศีล ๕ ละเอียดกว่ากันหรือเปล่า ? จึงทำให้การตรวจประเมินนั้น เราสามารถที่จะยกเอาคะแนนของแต่ละแห่งที่ไป มาจัดเรียงกันตามลำดับมากน้อยของคะแนนที่ได้ ใครได้สูงสุด ถ้าหากว่าอยู่ในจังหวัดก็จะได้ที่ ๑ ระดับจังหวัดไป ใครได้สูงสุดในระดับภาค ก็จะได้ที่ ๑ ของภาคไป ใครได้สูงสุดในระดับหน ก็จะได้ที่ ๑ ของหนไป ไม่ต้องใช้เวลาในการตรวจประเมิน ๒ รอบ ๓ รอบ แบบโครงการวัด ประชา รัฐ สร้างสุขนี้
คราวนี้โครงการวัด ประชา รัฐ สร้างสุขนั้น ต้องบอกว่าพระเถระเจ้าคณะปกครองท่านมองเห็นว่า วัดวาอารามหลายแห่งเข้า "เกียร์ว่าง" เพราะว่าการสร้างสุขตามหลัก ๕ ส. ก็คือ สะอาด สะสาง สร้างสุขนิสัย สร้างวินัย เหล่านี้เป็นต้น เท่ากับว่าให้พวกเราบริหารจัดการวัดให้สมกับที่เป็นวัดนั่นเอง พูดง่าย ๆ ว่า "ถ้าเจ้าอาวาสทุกรูปทำหน้าที่ของตนอย่างเต็มที่ ก็ไม่จำเป็นที่จะต้องมีโครงการนี้ก็ได้..!"
โดยเฉพาะท่านทั้งหลายต้องตีความคำว่า วัด ประชา รัฐ ซึ่งถ้าหากว่ากันแบบคร่าว ๆ ก็คือหน่วยงาน ๓ หน่วยงานด้วยกัน หลักสำคัญที่สุดก็คือประชา หรือว่าชาวบ้าน พูดง่าย ๆ ว่าถ้าสามารถทำให้ชาวบ้านเข้าวัดได้ วัดจะอยู่ได้ ถ้าไม่สามารถทำให้ชาวบ้านเข้าวัดได้ วัดก็จะอยู่ไม่ได้ กระผม/อาตมภาพเคยปรารภในการประชุมใหญ่ ไม่ว่าจะเป็นระดับจังหวัด หรือว่าระดับภาคของพระสังฆาธิการแล้ว หลายวาระด้วยกันว่า "ให้หาทางแก้ไขในเวลาจัดงานของวัดแต่ละแห่งว่า ทำอย่างไรจะให้มีญาติโยมมามากกว่าพระ ?"
__________________
........................
เกิดมาทั้งที เอาดีให้ได้ ตายไปทั้งที ฝากดีเอาไว้ อยู่ให้เขาเกรงใจ ไปให้เขาคิดถึง
จะเช มัตตา สุขังธีโร ปัญญาชน พึงสละสุขส่วนตน เพื่อสุขยิ่งใหญ่ของส่วนรวม
แก้ไขครั้งสุดท้ายโดย สุธรรม : 27-11-2024 เมื่อ 02:46
|