เพราะฉะนั้น..ถ้าหากว่าเป็นนักบวชฝ่ายธรรมยุต ทำผิดทำพลาดขึ้นมา แล้วจะก่อให้เกิดความเสียหาย เราจะเห็นว่าจะโดนตัดตอน แล้วเรื่องจบลงอย่างรวดเร็วทุกครั้ง มีครั้งเดียวที่ไม่สามารถจะทำได้ก็คือ เรื่องของท่านอาจารย์ยันตระ เพราะว่าท่านไม่ได้มีตำแหน่งแห่งที่ในทางการปกครอง
ในเมื่อเป็นเช่นนั้น ต่อให้คุณสำคัญขนาดไหน ถ้าสร้างความเสียหายให้กับส่วนรวม คุณก็ต้องสละตัวเอง คณะสงฆ์ธรรมยุตจึงสามารถคงความน่าเชื่อถืออยู่ได้ในสายตาของพุทธศาสนิกชน และในสายตาพุทธศาสนิกชน คณะสงฆ์ธรรมยุตก็คือ "พระของพระราชา"
พวกท่านทั้งหลายควรจะเอาบทเรียนตรงนี้ไปว่า ถ้าหากเราก้าวขึ้นไปอยู่ในระดับที่เริ่มให้คุณให้โทษต่อคนได้ ก็ต้องเอื้อเฟื้อเผื่อแผ่กับพวกเรากันเอง อย่างที่กระผม/อาตมภาพทำอยู่ โดยเฉพาะกฐินปลดหนี้ เนื่องเพราะว่าถ้าเราไปวัดเดียว มองมาข้างหลังอาจจะไม่เจอใครเลย แล้วพระพุทธศาสนาก็จะอยู่ไม่ได้ แต่ถ้าเราช่วยกันประคับประคองคนอื่น ถึงเวลาก็มีพวก มีความเป็นปึกแผ่น ช่วยให้พุทธศาสนาของเรามั่นคง ก็จะสามารถที่จะยืนยงจนกระทั่งครบ ๕,๐๐๐ ปีได้
สิ่งทั้งหลายเหล่านี้เราต้องตระหนักถึงภาพรวมของพระพุทธศาสนาเป็นสำคัญ แต่อย่าลืมว่าภาพรวมหรือมหภาคนั้น ก็เกิดจากจุลภาคจำนวนมากด้วยกันประกอบกันขึ้นมา ภาพรวมก็คือคณะสงฆ์มหานิกายหรือว่าคณะสงฆ์ไทย ส่วนภาพเฉพาะก็คือแต่ละวัด เรามีขอบเขตอำนาจที่สุดก็คือในวัดของเรา ก็ต้องบริหารจัดการวัดของเราให้ดี ให้พระภิกษุสามเณรของเราอยู่ในกรอบของพระธรรมวินัย อยู่ในกรอบของศีลของธรรม จะได้สร้างความเลื่อมใสให้กับญาติโยมได้มาก
อย่างของวัดท่าขนุนของเราในปัจจุบัน ในสายตาเจ้าคณะปกครองท่านก็จะว่า "วัดท่าขนุนเข้มแข็ง พระภิกษุสามเณรมีความรู้ความสามารถ ได้รับการสนับสนุนจากเจ้าอาวาสทุกทาง" แล้วแต่ละท่านก็มีจิตสำนึกว่า ตนเองบวชเข้ามาด้วยความตั้งใจจะปฏิบัติเพื่อความพ้นทุกข์ ก็พยายามที่จะรักษาวัตรปฏิบัติตามแนวครูบาอาจารย์เอาไว้ จนกลายเป็นภาพพจน์ที่ดีในสายตาของผู้บังคับบัญชา แล้วภาพพจน์ที่ดีเหล่านี้ก็อยู่ในสายตาของชาวบ้านอีกด้วย
__________________
........................
เกิดมาทั้งที เอาดีให้ได้ ตายไปทั้งที ฝากดีเอาไว้ อยู่ให้เขาเกรงใจ ไปให้เขาคิดถึง
จะเช มัตตา สุขังธีโร ปัญญาชน พึงสละสุขส่วนตน เพื่อสุขยิ่งใหญ่ของส่วนรวม
แก้ไขครั้งสุดท้ายโดย สุธรรม : 21-11-2024 เมื่อ 02:21
|