ดังนั้น..ในเรื่องของศีลจึงเป็นเรื่องที่ละเอียดอ่อน ถ้าสามารถงดเว้นได้โดยเด็ดขาดเลยก็จะดีมาก แต่กว่าที่จะทำถึงระดับนั้นได้ เราก็ต้องมีสมาธิเป็นเครื่องช่วยเหลือ เพราะว่าสมาธินั้นจะช่วยให้สติของเราแหลมคมว่องไว ขยับตัวเมื่อไรก็จะระลึกได้ทันทีว่า เราจะล่วงละเมิดศีลข้อใดหรือเปล่า ?
ขณะเดียวกันถ้ามีโอกาสละเมิดศีล เราก็จะมีกำลังสมาธิในการระงับยับยั้งตนเองไม่ให้ละเมิดได้
เรื่องของศีลจึงไม่ใช่รักษาลอย ๆ อย่างเดียว หากแต่ต้องประกอบไปด้วยสมาธิและปัญญาเป็นปกติ ก็คือปัญญาในการที่จะหลบเลี่ยงไม่ให้ตนเองไปละเมิดศีล ขณะเดียวกันก็มีสมาธิจิตในการหักห้ามตนเองไม่ให้ละเมิดศีล มีสติระลึกรู้เท่าทันว่าเราจะต้องไม่ละเมิดศีล เป็นต้น
เรื่องของศีลจึงไม่ใช่เรื่องของการควบคุมแค่กายวาจา อย่างที่หลายท่านมักจะสอนกัน หากแต่ว่าเป็นการควบคุมตั้งแต่ใจของเรา ถ้าหากว่ากำลังใจของเราทรงตัว โอกาสที่จะละเมิดศีลก็มีน้อยมาก เพราะว่า สติ สมาธิ ปัญญา สมบูรณ์พร้อม
แต่ถ้าหากว่ากำลังใจไม่ทรงตัว สติขาดตกบกพร่อง ก็อาจจะละเมิดศีลโดยไม่เจตนาบ้าง หรือว่าละเมิดศีลโดยไม่อาจจะระงับยับยั้งต่อสิ่งที่มายั่วยุอยู่ตรงหน้าบ้าง ทำให้เรากลายเป็นบุคคลที่ศีล ๕ ขาดโดยสมบูรณ์ ไม่ใช่อยู่ในลักษณะของศีลด่างศีลพร้อยเท่านั้น
เรื่องของศีลเป็นตัวสนับสนุนให้สมาธิเกิดได้ง่าย แล้วเรื่องของสมาธิก็จะสนับสนุนปัญญาให้เกิด ครั้นมีปัญญาแล้ว ก็จะกลับไประมัดระวังรักษาศีลอีกครั้งหนึ่ง อยู่ในลักษณะเหมือนกับเราหมุนเกลียวของน็อต ถ้าหากว่าหมุนไปเรื่อย ๆ ท้ายที่สุดน็อตนั้นก็จะสิ้นสุดลงเอง ก็คือทุกอย่างสมบูรณ์บริบูรณ์อยู่ในตัว สติ สมาธิ ปัญญา ทุกอย่างอยู่ในลักษณะสมบูรณ์พร้อม เป็นผู้ที่ไม่ละเมิดศีลด้วยเจตนางดเว้นเป็นสมุจเฉทวิรัติ ก็คือเด็ดขาดไปเลย
ถ้าอยู่ในลักษณะนั้น โอกาสที่ท่านจะก้าวเข้าสู่ความเป็นพระอริยเจ้าระดับโสดาบัน ก็จะเป็นเรื่องที่ไม่เกินความสามารถของตน
__________________
........................
เกิดมาทั้งที เอาดีให้ได้ ตายไปทั้งที ฝากดีเอาไว้ อยู่ให้เขาเกรงใจ ไปให้เขาคิดถึง
จะเช มัตตา สุขังธีโร ปัญญาชน พึงสละสุขส่วนตน เพื่อสุขยิ่งใหญ่ของส่วนรวม
แก้ไขครั้งสุดท้ายโดย สุธรรม : 16-08-2024 เมื่อ 02:28
|