หลายต่อหลายคนก็เลยเกิดอาการที่ว่า "ตบะแตก จิตตก สมาธิตก กรรมฐานแตก" เหล่านี้เป็นต้น ก็เพราะว่าสภาพจิตของเรามีความดิ้นรนเป็นปกติ ถ้าเราเผลอตัวเมื่อไร กิเลสก็จะตีกลับ แล้วทำให้ รัก โลภ โกรธ หลง ที่โดนเก็บกดไว้นั้น ทะลักทลายมาอย่างชนิดที่ห้ามไม่ไหว ทำให้กำลังใจตก พังไปเป็นเดือน ๆ บางคนก็พังไปหลายปี..!
เราต้องเข้าใจว่าธรรมดาของจิตเป็นอย่างนั้น อยากจะพังเราก็เริ่มต้นใหม่ อย่าเสียเวลาไปโอดครวญเสียดายกับสิ่งที่เคยผ่านมาแล้ว เริ่มต้นนับหนึ่งใหม่เดี๋ยวนั้นทันทีว่า "ตั้งแต่วินาทีนี้เป็นต้นไป เราจะเป็นผู้มีศีลบริสุทธิ์" ประคับประคองรักษาสมาธิของเราต่อไป ถ้าสามารถทำเช่นนั้นได้ จิตใจของเราก็จะหวั่นไหวกับสิ่งผิดพลาดน้อยลงไปเรื่อย ๆ แล้วท้ายที่สุดก็เห็นเป็นธรรมดา วางอุเบกขาลงได้ กำลังใจของเราตกเท่าไรก็จะไม่ต่ำไปกว่านี้ ก็คือเหมือนกับมีพื้นไว้รองรับ เมื่อถึงเวลาตกก็อยู่แค่พื้น แล้วก็ลุกขึ้นยืน ก้าวต่อขึ้นเบื้องสูงต่อไป
ในเรื่องของการปฏิบัติธรรมจึงเป็นเรื่องที่ประมาทไม่ได้ พระเดชพระคุณหลวงพ่อฤๅษีฯ วัดท่าซุงท่านเล่าให้ฟังว่า ขนาดท่านทรงสมาบัติ ๘ คล่องตัวแล้ว มีอยู่วันหนึ่ง ไม่ทราบว่าเผลอตอนไหน หลุดออกมาเหลือแค่อุปจารสมาธิ ท่านบอกว่าบ้านหลังใหญ่ที่มีเสา ๘ ต้นช่วยกันค้ำ อยู่ ๆ เสาเหลือแค่ครึ่งต้น รสชาติแบบนั้นหนักหนาสาหัสแค่ไหน ก็ลองไปเดากันเอาเอง..!
กระผม/อาตมภาพเองเคยทรงสมาธิ ทั้งกลางวันกลางคืนต่อเนื่องกันทุกลมหายใจเข้าออก มีสติรู้ตัวอยู่ตลอด ก็ไม่ทราบเหมือนกันว่าเผลอตอนไหน ผ่านไป ๒ เดือนกว่าหลุดเอาดื้อ ๆ ของพวกเรานี่ทรงได้ต่อเนื่องกันสักครึ่งชั่วโมงแล้วหลุด ก็น่าจะดีมากแล้ว
เรื่องเหล่านี้เป็นบทเรียนในการปฏิบัติของเราว่า ถ้ากำลังใจตก อย่าเสียเวลาไปคร่ำครวญอยู่ตรงนั้น ให้ทิ้งความเสียดายความดีเก่า ๆ ที่เคยทำได้ แล้วเริ่มต้นตะเกียกตะกายทำใหม่เดี๋ยวนั้นเลย โอกาสที่เราจะดึงกำลังใจกลับมาให้เท่าเดิมก็จะมีมากขึ้น แต่ถ้ามัวแต่ไปคร่ำครวญอยู่ตรงนั้นเมื่อไร ก็จะเสียเวลาไปหลายวัน บางทีก็หลายเดือน อีกหลายคนก็เจอเป็นหลายปี ตายตอนนั้นจะขาดทุนเสียเปล่า ๆ
สำหรับวันนี้ก็ขอเรียนถวายพระภิกษุสามเณรของเรา และบอกกล่าวแก่ญาติโยมแต่เพียงเท่านี้
พระครูวิลาศกาญจนธรรม, ดร.
เสียงธรรมจากวัดท่าขนุน
วันจันทร์ที่ ๑๒ สิงหาคม พุทธศักราช ๒๕๖๗
(ถอดจากเสียงเป็นอักษร โดย เผือกน้อย)
__________________
........................
เกิดมาทั้งที เอาดีให้ได้ ตายไปทั้งที ฝากดีเอาไว้ อยู่ให้เขาเกรงใจ ไปให้เขาคิดถึง
จะเช มัตตา สุขังธีโร ปัญญาชน พึงสละสุขส่วนตน เพื่อสุขยิ่งใหญ่ของส่วนรวม
แก้ไขครั้งสุดท้ายโดย สุธรรม : 13-08-2024 เมื่อ 02:11
|