แต่กระผม/อาตมภาพนั้น ปีแรกสอบนักธรรมชั้นนวกภูมิและนักธรรมชั้นตรี ซึ่งต่างจากสมัยนี้ที่สอบครั้งเดียว ปีที่ ๒ ไม่ได้สอบนักธรรมชั้นโท เพราะว่าไปคอยดูแลหลวงปู่มหาอำพัน - ท่านเจ้าคุณพระภาวนาปัญญาวิสุทธิ์ (อำพัน อาภรโณ บุญ-หลง) วัดเทพศิรินทราวาส ที่ท่านป่วยหนัก ปีที่ ๓ สอบได้นักธรรมชั้นโท ปีที่ ๔ สอบได้นักธรรมชั้นเอก
เมื่อได้นักธรรมชั้นเอกแล้ว พระเดชพระคุณหลวงพ่อท่านบอกว่า "ความรู้ความสามารถของแกพอที่จะคุ้มครองตัวเองได้แล้ว อนุญาตให้ออกธุดงค์ได้" ก็เลยกลายเป็นพระรูปเดียวที่ยังไม่ครบ ๕ พรรษาแล้วได้รับอนุญาตให้ออกธุดงค์ แล้วท่านก็ถ่ายทอดคาถาต่าง ๆ ที่ใช้ประกอบในการธุดงค์ อย่างเช่นว่าบทบารมี ๓๐ ทัศ ต่อด้วยนะโมพุทธายะ ท่านบอกว่าให้ภาวนาเป็นประจำจนกำลังใจทรงตัว ใครจะทำไสยศาสตร์มาขนาดไหนก็ตามจะสลายตัวหมด
ถ้าหากว่ามีคนนำข้าวปลาอาหารมาถวาย เราเองไม่มั่นใจว่าจะปลอดภัยหรือเปล่า ให้ภาวนาพระคาถาบารมี ๓๐ ทัศ ต่อด้วยนะโมพุทธายะ ทำน้ำมนต์พรมอาหารเหล่านั้นก่อน ถ้าไม่เปลี่ยนสภาพก็แปลว่าเป็นของปกติ สามารถที่จะฉันได้
แต่กระผม/อาตมภาพเป็นคนขี้เกียจเสมอ อะไรที่ครูบาอาจารย์บอกก็มักจะแหกคอก ใช้วิธีภาวนากำหนดภาพพระครอบลงไปในวงอาหารเลย หมดเรื่องหมดราวไป..! เสียเวลาไปทำน้ำมนต์ให้เขาระแวงด้วย เพียงแต่ว่าเราจะต้องภาวนาจับภาพพระเป็นปกติ จนกระทั่งมั่นใจแล้วก็ภาวนาคาถา พร้อมกับกำหนดภาพพระครอบลงไป
คาถาอีกบทหนึ่งก็คือคาถาที่ท่านเรียกว่าตวาดป่าหิมพานต์ แต่ว่าไม่เหมือนกับตวาดป่าหิมพานต์ในตำราทั่วไป เพราะท่านใช้บทภะสัมสัมวิสะเทภะ ใน อิติปิ โสฯ ๘ ทิศ ให้ใช้ตอนที่เราขึงสายอัพโภกาส หรือว่าตอกหลักยึดกลด ถ้าเป็นกลดสมัยเก่าหลังใหญ่สูงประมาณ ๒ - ๓ เมตร จะต้องมีเชือกยึดเพื่อไม่ให้ล้ม สมัยนี้ส่วนใหญ่เป็นกลดแขวน ก็ให้ภาวนาตอนแขวนกลด เพื่อป้องกันอันตรายต่าง ๆ ที่จะเข้ามาในบริเวณนั้น
หรือถ้าหากว่าใครยังไม่มั่นใจก็เสกก้อนหิน หรือว่าก้อนดินด้วยพระคาถา อิติปิ โสฯ ๘ ทิศ กลั้นใจโยนออกไปทิศละก้อน แต่ควรที่จะอธิษฐานว่าให้หมดอานุภาพเมื่อได้อรุณแล้ว ไม่อย่างนั้นถ้าหากว่ากำลังใจท่านทรงฌานได้สักระดับหนึ่ง บริเวณนั้นจะกลายเป็นเขตหวงห้าม ที่บรรดาเทวดาชั้นล่าง ๆ หรือว่าภูตผีปีศาจจะเข้าไม่ได้ เพราะว่าถ้ากำลังใจของเราถ้าทรงปฐมฌานได้จะเทียบเท่ากับพรหม ๓ ชั้นแรก ซึ่งจะมีอานุภาพเหนือกว่าเทวดาอย่างเช่นว่ารุกขเทวดา หรือภุมมเทวดา เป็นต้น
__________________
........................
เกิดมาทั้งที เอาดีให้ได้ ตายไปทั้งที ฝากดีเอาไว้ อยู่ให้เขาเกรงใจ ไปให้เขาคิดถึง
จะเช มัตตา สุขังธีโร ปัญญาชน พึงสละสุขส่วนตน เพื่อสุขยิ่งใหญ่ของส่วนรวม
แก้ไขครั้งสุดท้ายโดย สุธรรม : 04-08-2024 เมื่อ 02:52
|