เมื่อจิตของเรามีกำลัง ยังสามารถจะทำสิ่งที่คนทั่วไปทำไม่ได้ ภาษาบาลีท่านใช้คำว่า อุตริมนุสธรรม คือธรรมอันยิ่งกว่ามนุษย์ทั่ว ๆ ไปจะทำได้
ความจริงเรื่องทั้งหลายเหล่านี้เป็นแค่ของแถมในการปฏิบัติ ก็คือถ้าหากว่าเราทำถึง สิ่งทั้งหลายเหล่านี้ก็จะมาเอง ไม่ต้องเสียเวลาไปตั้งเป็นเป้าหมายในชีวิต ไม่ต้องเสียเวลาไปดิ้นรนทำเพื่อสิ่งทั้งหลายเหล่านั้น เนื่องเพราะว่าถ้าเราตั้งเป็นเป้าหมายในชีวิต เราไปดิ้นรนทำเพื่อสิ่งทั้งหลายเหล่านั้น เท่ากับว่าเราเอากิเลสนำหน้า เอาตัณหานำทาง โอกาสที่จะเข้าถึงก็ยาก
แต่ถ้าหากว่าเราไม่ใส่ใจตรงนั้นมาก วางกำลังใจอยู่กับปัจจุบัน เรามีหน้าที่ภาวนา จะได้หรือไม่ได้ จะเป็นหรือไม่เป็นก็ช่างมัน ถ้าวางกำลังใจแบบนี้ ท่านทั้งหลายจะปฏิบัติธรรมก้าวหน้าได้รวดเร็วมาก
ก็แปลว่าที่ผ่านมาส่วนใหญ่ทำผิดทั้งนั้น ไปทำเพราะอยากมี อยากได้ อยากเป็น แล้วถามว่า "ไม่อยาก แล้วจะทำไปทำอะไร ?" ความอยากไม่ใช่ความผิด แต่ถ้าอยากแล้ววางความอยากไม่เป็นนั่นถึงจะผิด ถามว่า "ผิดตรงไหน ?" ก็คือผิดวิธี เราตั้งใจอยากได้ ต้องการอะไร ให้ตั้งเป้าหมายเอาไว้ก่อน หลังจากนั้นเราตั้งหน้าตั้งตาทำไป โดยไม่ต้องไปสนใจว่าเป้าหมายนั้นคืออะไร พูดง่าย ๆ ก็คือเรามีหน้าที่ทำ
พอเราวางกำลังใจผิด โอกาสที่จะทำดีทำถูกก็ยากขึ้น เนื่องเพราะว่าการปฏิบัติธรรมทุกระดับต้องมีอุเบกขา พวกเราส่วนใหญ่ไม่รู้จักอุเบกขา อุเบกขาเป็นการปล่อยวางตั้งแต่ระดับต่ำสุดจนถึงสูงสุด ถามว่า "ทำไมมีหลายระดับ ?" ก็เพราะว่ากำลังใจของคนไม่เท่ากัน
__________________
........................
เกิดมาทั้งที เอาดีให้ได้ ตายไปทั้งที ฝากดีเอาไว้ อยู่ให้เขาเกรงใจ ไปให้เขาคิดถึง
จะเช มัตตา สุขังธีโร ปัญญาชน พึงสละสุขส่วนตน เพื่อสุขยิ่งใหญ่ของส่วนรวม
แก้ไขครั้งสุดท้ายโดย สุธรรม : 02-08-2024 เมื่อ 02:15
|