ก็แปลว่าสิ่งที่เราทำมานั้นยังไม่เพียงพอต่อการที่จะเข้าถึงมรรคถึงผล เนื่องเพราะว่าสภาพจิตยังตื่นรู้ไม่เพียงพอ แล้วจะไปใช้ปัญญาในการพิจารณาตัดกิเลสอย่างไร ? เพราะว่าถึงเวลา ถีนมิทธะ คือความง่วงเหงาหาวนอน ก็มากดทับสภาพจิตของเราจนมืดบอดไปหมด แม้แต่กิเลสหน้าตาเหมือนเรายังไม่รู้เลย..! ก็คือมักจะมองไปว่า สิ่งที่เกิดขึ้นกับเราแล้วไม่ดีไม่งามนั้น เป็นความผิดของคนอื่นเสมอ..!
ทำอย่างไรที่เราจะพิจารณาหาความผิดของตนเองให้ได้ เหมือนอย่างกับในพระบาลีที่ว่า อัตตนา โจทยัตตานัง ก็คือ ต้องกล่าวโทษโจทก์ตนเองอยู่เสมอ อย่าให้ไปตกอยู่ในภาษิตโบราณที่ว่า "ผิดคนอื่นมองเห็นเป็นภูเขา ผิดของเรามองเห็นเท่าเส้นขน ตดคนอื่นเหม็นเบื่อเหลือจะทน ตดของตนถึงเหม็นไม่เป็นไร"
ถ้าเรายังมัวแต่ให้อภัยตนเองอยู่ตลอดเวลา ก็ต้องให้อภัยแบบคนมีปัญญา ก็คือไม่มีใครที่ไม่เคยทำผิด เพียงแต่ว่าบุคคลผู้มีปัญญานั้นคือผิดแล้วต้องแก้ไข เหมือนกับนักกีฬา เมื่อถึงเวลาเราแพ้คู่แข่ง ก็ต้องกลับมาวิเคราะห์ดูว่า เราแพ้เพราะอะไร ? แล้วพยายามแก้ไขปิดจุดอ่อนของตน สร้างจุดแข็งให้เหนือกว่าคู่แข่งขึ้นมา ไม่เช่นนั้นแล้วการปฏิบัติธรรมของเรา ต่อให้ปีแล้วปีเล่า กระผม/อาตมภาพต่อให้ชาติแล้วชาติเล่าด้วย..! ถ้าหากว่าพิจารณาหาข้อบกพร่องของตัวเองไม่ได้ เราก็ไม่สามารถที่จะแก้ไขอะไรได้
กระผม/อาตมภาพเองนั้น บางขณะบางเวลา โดนครูบาอาจารย์ท่านดุด่าว่ากล่าว พิจารณาตั้งแต่ต้นยันปลายแล้วว่าเราไม่ได้ทำอะไรผิดเลย แล้วทำไมถึงโดนด่า ? ท้ายที่สุดก็สรุปลงได้ว่า "เอ็งผิดตั้งแต่เกิดแล้ว ถ้าไม่เกิดมาก็ไม่ต้องโดนด่าแบบนี้..!"
ปรากฏว่าทันทีที่คิดตก หลวงพ่อท่านก็ให้ครูบาอาจารย์โทรมาแจ้งว่า "ท่านย่าสั่งให้ด่า" ท่านย่าบอกว่า "เจ้านี่มันรู้ตัวเร็ว ถ้าด่าไปแล้วมันจะระมัดระวัง คนอื่นก็จะเล่นงานมันไม่ได้" เพราะฉะนั้น..ถ้าหาความผิดตัวเองไม่เจอ อนุญาตให้นำไปใช้ ก็คือ "มึงผิดตั้งแต่เกิดมาแล้ว" ดีไม่ดีก็ผิดตั้งแต่ก่อนเกิดมาหลายชาติแล้วด้วย..!
ไม่เช่นนั้นแล้วเราก็ไม่สามารถที่จะแก้ไขข้อบกพร่อง แล้วก็ทำตัวเองให้เจริญขึ้น ให้ก้าวหน้าขึ้น แล้วก็อาจจะโดนรุ่นน้องมองเหยียดว่า "พี่ปฏิบัติธรรมภาษาอะไร ? หลายสิบปีแล้วไม่มีอะไรดีขึ้นเลย..!" แม้กระทั่งตัวเองก็ยังอาจจะสงสัยตัวเองว่า "นี่เราทำอะไรผิดหรือเปล่า ? ทำไมปีแล้วปีเล่าเราไม่มีอะไรดีขึ้นมาเลย ?"
__________________
........................
เกิดมาทั้งที เอาดีให้ได้ ตายไปทั้งที ฝากดีเอาไว้ อยู่ให้เขาเกรงใจ ไปให้เขาคิดถึง
จะเช มัตตา สุขังธีโร ปัญญาชน พึงสละสุขส่วนตน เพื่อสุขยิ่งใหญ่ของส่วนรวม
แก้ไขครั้งสุดท้ายโดย สุธรรม : 28-07-2024 เมื่อ 02:59
|