เรื่องการตีความพระธรรมวินัยนั้น เราต้องไม่เข้าข้างตนเอง เพราะว่า การเข้าข้างตนเอง หรือว่าถือเลศนัยบางอย่าง เพื่อที่ต้องการความสะดวกสบายเฉพาะตน อาจจะทำให้เราเสียผลในการปฏิบัติธรรมไปได้ อย่างเช่นว่า ส่งไลน์หรือโทรศัพท์ไปหาโยมว่า ให้นิมนต์หน่อยจะได้ลาออกจากวัดได้ในช่วงเข้าพรรษา ถ้าลักษณะนี้ ไม่ได้เกิดจากความเลื่อมใสศรัทธาของญาติโยม แต่ว่าร่วมกันหาเลศเพื่อที่จะออกจากวัด ถ้าลักษณะอย่างนั้นก็ถือว่าไม่สมควร ปรับให้ขาดพรรษาไปเลยก็ได้
คราวนี้..การขาดพรรษาของพระภิกษุนั้น ท่านเองไม่ได้พรรษา ก็ต้องไปนั่งต่อท้ายพระที่บวชพรรษาเดียวกัน หรือว่าปีเดียวกัน จะมีสิทธิ์อยู่เหนือก็เฉพาะพระใหม่ที่บวชมาหลังจากนั้นเท่านั้น ก็แปลว่า ท่านบวชได้แต่ระยะเวลา แต่ไม่นับอายุพรรษา ต้องไปกราบเพื่อนฝูงของตนเองพรรษาเดียวกันที่บวชทีหลังด้วย เพราะว่าอายุพรรษาของเขามีมากกว่า
เรื่องพวกนี้..เป็นเรื่องที่พระภิกษุสงฆ์ของเราต้องศึกษา ญาติโยมทั้งหลายของเราก็ดูแค่ว่า ในช่วงของการเข้าพรรษานั้น เราจะสร้างบุญสร้างกุศลอะไรให้เต็มที่เต็มทางได้บ้าง หลายท่านก็ตั้งใจว่าจะงดเหล้าตลอดพรรษา หลายท่านก็ตั้งใจจะรักษาศีล ๕ หรือว่าศีล ๘ ให้ตลอดพรรษา หลายท่านก็ตั้งใจว่า จะฟังเทศน์ฟังธรรมให้ได้ทุกวันพระตลอดพรรษา
สิ่งทั้งหลายเหล่านี้ เราก็นำเอาโอกาส คือ การเข้าพรรษา..นั้นเป็นตัวตั้ง แล้วพยายามทำให้ได้ตามที่เราตั้งใจเอาไว้ เท่ากับว่าเราใช้ระยะเวลา หรือเทศกาลสำคัญของพระภิกษุสามเณร มาบังคับตัวเราให้สร้างคุณงามความดีด้วย ถือว่าเป็นความฉลาดในการที่จะบังคับตนเอง ให้ทำในสิ่งที่วันปกติเราไม่สามารถที่จะกระทำได้ ในลักษณะอย่างนี้..ถ้าท่านทำได้ตลอดพรรษาแล้ว ก็ควรที่จะรักษาสืบ ๆ ไป โดยที่ไม่กลับไปล่วงละเมิดสิ่งทั้งหลายเหล่านั้นเหมือนเดิม ก็จะเป็นเรื่องที่ประเสริฐที่สุดเท่าที่จะทำได้
แก้ไขครั้งสุดท้ายโดย หยาดฝน : 26-07-2024 เมื่อ 09:32
|