ข้อต่อไปก็คือบุคคลที่ถามว่ายิ่งภาวนาแล้วอารมณ์ก็ยิ่งร้อนขึ้น "วีนแตก" ง่ายขึ้น กระผมมาผิดทางหรือเปล่า ?
อยากจะบอกว่าถ้าหากว่าท่านภาวนาแล้ว ราคะ โลภะ โทสะ โมหะกำเริบ ความจริงท่านมาถูกทางแต่ผิดวิธี เนื่องเพราะว่าการที่เราภาวนานั้น อันดับแรกเลย ถ้าสมาธิของเราทรงตัว เราก็จะอาศัยกำลังสมาธินั้น ไปกด รัก โลภ โกรธ หลง ให้ระงับดับลงชั่วคราว
สภาพจิตที่ รัก โลภ โกรธ หลง ไม่มาวอแว ไม่มาวุ่นวาย จะมีความผ่องใสมาก เราก็จะอาศัยกำลังตรงนั้นไปพินิจพิจารณาในวิปัสสนาญาณ โดยเฉพาะมองให้เห็นความไม่เที่ยง ความเป็นทุกข์ ความไม่มีอะไรเป็นตัวตนเราเขาของร่างกายนี้ จิตใจเราก็จะปลดออกจากการยึดมั่นถือมั่น ก็จะค่อย ๆ คลายในส่วนที่เรายึดมั่นลงไปเรื่อย ๆ จนกระทั่งท้ายที่สุด ท่านก็จะสามารถหลุดพ้นจากกองทุกข์เข้าสู่พระนิพพานได้
แต่ด้วยความที่ว่าบรรดาผู้ปฏิบัติส่วนใหญ่แล้ว เมื่อเราปฏิบัติธรรมไปจนเต็มที่ ละจากบัลลังก์ คือการปฏิบัติแล้วเราก็ทิ้งไปเลย ลืมสิ่งที่ครูบาอาจารย์บอกเอาไว้ว่า ถ้าสามารถจดจ่อต่อเนื่องได้ทุกลมหายใจเข้าออกยิ่งเป็นการดี ในเมื่อท่านทิ้งไปเลย การปฏิบัติธรรมของเราเหมือนกับการว่ายทวนน้ำ ถึงเวลาเราทิ้งไปเลยก็ลอยตามกระแสน้ำไป พอวันต่อไป เราก็ว่ายทวนน้ำขึ้นมาอีก แล้วก็ปล่อยให้ลอยตามกระแสไปอีก เราจะกลายเป็นคนขยันที่ทำงานทุกวันแต่ไม่มีผลงานเลย..! พอนาน ๆ ไป เกิดการเหนื่อยเข้า ล้าเข้า หลายท่านก็อาจจะเลิกราการปฏิบัติไป
แล้วทำไมพอปฏิบัติไปแล้วอารมณ์โกรธถึงได้ระเบิดง่าย ? ที่ญาติโยมผู้ถามใช้คำว่า "วีนแตก" ไม่ได้เพียงแต่อารมณ์โกรธเท่านั้น ไม่ว่าจะเป็นรัก เป็นโลภ เป็นโกรธ เป็นหลง ล้วนแล้วแต่กำเริบง่ายทั้งนั้น เหตุก็เพราะว่าท่านไปเน้นในสมถภาวนามาก เป็นการสะสมกำลังเอาไว้เพื่อใช้งาน แต่คราวนี้เมื่อท่านปฏิบัติสะสมไปแล้ว ท่านไม่ได้นำมาใช้งาน คือไม่ได้ใช้พิจารณาในวิปัสสนาญาณต่าง ๆ ก็ทำให้กำลังส่วนนั้นโดนกิเลสดึงไปใช้งานแทน เหมือนอย่างกับว่าเราทำมาเพื่อให้ รัก โลภ โกรธ หลง ได้ใช้งาน
__________________
........................
เกิดมาทั้งที เอาดีให้ได้ ตายไปทั้งที ฝากดีเอาไว้ อยู่ให้เขาเกรงใจ ไปให้เขาคิดถึง
จะเช มัตตา สุขังธีโร ปัญญาชน พึงสละสุขส่วนตน เพื่อสุขยิ่งใหญ่ของส่วนรวม
แก้ไขครั้งสุดท้ายโดย สุธรรม : 21-07-2024 เมื่อ 03:09
|