สายที่สามบาลีเรียกว่า ฉฬภิญโญ แปลไทยว่า อภิญญาหก มีความรู้พิเศษยิ่ง ๖ อย่างด้วยกัน คือ
๑.อิทธิวิธิ สามารถแสดงฤทธิ์ต่าง ๆ ได้
๒.ทิพโสต มีหูทิพย์ ใครแอบนินทา จะอยู่ใกล้อยู่ไกลก็รู้ คนละมุมโลกก็รู้ สมัยนี้บางทีเขาบอกว่า โทรศัพท์ก็เหมือนกับหูทิพย์เหมือนกัน
๓.เจโตปริยญาณ การรู้ทันกำลังใจหรือความคิด ทั้งของตนเองและผู้อื่น ที่สำคัญคือการรู้ใจตนเองว่า ขณะนี้ใจของเรามีความชั่วอยู่หรือไม่ ? ถ้ามีอยู่ก็ขับไล่มันออกไป แล้วระมัดระวังไว้อย่าให้มันเข้ามาได้อีก ใจของเรามีความดีอยู่หรือไม่ ? ถ้าไม่มีก็พยายามทำให้มีขึ้นมา ถ้ามีแล้วก็ทำให้ดียิ่ง ๆ ขึ้นไป
๔.ปุพเพนิวาสานุสติญาณ สามารถระลึกชาติได้
๕.ทิพจักขุ คือมีตาทิพย์ ใครจะทำอะไร อยู่ที่ไหน สามารถรู้ได้
๖.อาสวักขยญาณ จะซ้ำกับวิชชาสาม แปลว่าความรู้ที่ทำให้หมดกิเลสได้ นี่เรียกว่า สายอภิญญาหก
สายที่สี่ สายสุดท้ายนี้เรียกว่า ปฏิสัมภิทาญาณ สายนี้มีความสามารถครอบคลุมทั้ง แบบสุกขวิปัสสโก เตวิชโช และฉฬภิญโญ ทั้งหมด และมีความรู้พิเศษอีก ๔ อย่าง คือ
๑.อรรถปฏิสัมภิทา และ ๒.ธรรมปฏิสัมภิทา สามารถรู้เหตุและรู้ผลของทุกสิ่งทุกอย่างได้หมด ว่าเรื่องทั้งหลายเหล่านั้น เกิดขึ้นได้ เพราะอาศัยเหตุอะไร ? หรือถ้าทำเหตุอย่างนั้นแล้ว ผลจะเป็นอย่างไร ? นี่เป็นสองในปฏิสัมภิทาญาณ ๔
อย่างที่สามเรียกว่า นิรุกติปฏิสัมภิทา สามารถรู้ได้ทุกภาษา ซึ่งเขามีการพิสูจน์กันแล้วว่า เป็นไปได้จริง ๆ
และสุดท้ายอย่างที่สี่เรียกว่า ปฏิภาณปฏิสัมภิทา สามารถมีความเฉลียวฉลาด ชนิดที่ใครต้อนก็ไม่จน ประมาณปลาไหลแช่น้ำมันอะไรทำนองนั้น
คราวนี้หลักการปฏิบัติทั้ง ๔ สายที่ว่ามา ขึ้นอยู่กับจริตนิสัยของเราว่าชอบแบบไหน
ถ้าหากว่าบอกอะไรเชื่อเลย ปฏิบัติตามแบบสุกขวิปัสสโกจะง่ายที่สุด หากว่าบอกแล้ว ยังขี้สงสัยไต่ถาม แต่ไม่ได้ซักไซ้ไล่เลียงละเอียดมากความนัก ก็ปฏิบัติตามสายวิชชาสาม
ถ้าเป็นคนขี้สงสัยมาก ไล่เลียงเอาชนิดอาจารย์แทบจะเก็บของกลับบ้าน ถ้าอย่างนั้นต้องฝึกแบบอภิญญา ๖ แต่ถ้าซักไซ้กันเต็มที่แล้ว ยังจับเอาอาจารย์ไปแยกธาตุทำวิจัยอีก นั่นต้องฝึกแบบปฏิสัมภิทาญาณ ขึ้นอยู่กับจริตนิสัยของเราแต่ละคน
คราวนี้จริง ๆ แล้วคำสอนของพระพุทธเจ้าทั้ง ๘๔,๐๐๐ พระธรรมขันธ์ เมื่อสรุปลงมาเป็นสายปฏิบัติทั้ง ๔ สายนี้แล้ว ก็ขึ้นอยู่กับวาสนาบารมีเดิมของเราว่าจะชอบแบบไหน...
แก้ไขครั้งสุดท้ายโดย สุธรรม : 30-03-2010 เมื่อ 03:46
|