ในเมื่อเป็นเช่นนี้จึงมีแต่เรื่องปวดหัวอยู่ไม่เว้นแต่ละวัน จนกระทั่งบางทีพอมีความผิดพลาดเกิดขึ้น กระผม/อาตมภาพก็จะด่าลูกศิษย์คนนี้ออกไปก่อน โดยที่บางทีเขาไม่ได้ทำผิดเลย ด้วยความที่ว่าเป็น "ขาประจำ" ในเมื่อมีข้อผิดพลาดในงานเกิดขึ้นมา ก็ต้องด่าเขาออกไปก่อน แล้วกว่าจะรู้ว่าเป็นคนอื่นทำผิด ลูกศิษย์ผู้น่าสงสารก็ต้องรับคำด่าไปเต็ม ๆ แทนพรรคพวกเสียแล้ว..!
ปัญหาทั้งหลายเหล่านี้นั้น ครูบาอาจารย์หลายต่อหลายท่าน ก็ไม่สามารถที่จะเผยแผ่พระพุทธศาสนาให้เป็นวงกว้างได้ บางท่านศึกษาธรรมะมาอย่างลึกซึ้งมาก แต่ไปศึกษาพระอภิธรรมมาด้วย ก็จะบรรยายอยู่ในลักษณะเปรียบเทียบกับพระอภิธรรมโดยตลอด อย่างเช่นว่า "จิตว่าโดยพิสดารมีกี่ร้อยดวง ฯลฯ" เป็นต้น ผู้ฟังก็นั่งสลบไสลไปตาม ๆ กัน..!
ยกเว้นบุคคลที่ศึกษาพระอภิธรรมมาด้วย ก็จะชื่นชมเหลือเกินว่า "พระอาจารย์บรรยายได้ชัดเจนแจ่มแจ้งมาก" "หลวงพ่อบรรยายได้เข้าใจง่ายเหลือเกิน" ส่วนที่เหลืออีกประมาณ ๙๐ เปอร์เซ็นต์ก็ได้แต่ "นั่งแบ๊ะ ๆ" เนื่องเพราะว่าฟังไม่รู้เรื่อง มีแต่คำศัพท์ทางบาลีและพระอภิธรรมออกมาเป็นชุด ๆ..!
เรื่องพวกนี้บางทีก็ทำให้โอกาสที่ท่านทั้งหลายจะเผยแผ่พระพุทธศาสนามีน้อยลง หรือว่าอยู่ในวงแคบ แล้วขณะเดียวกันบุคคลที่หวังจะได้รับรสพระพุทธพจน์เทศนา จากคำสอนของท่านทั้งหลายเหล่านี้ที่รู้แจ้งรู้จริง แต่ไม่สามารถจะถ่ายทอดออกมาให้เป็นภาษาเดียวกับที่เขาเข้าใจได้ ทำให้เขาขาดโอกาส ต้องไปแสวงหาครูบาอาจารย์อื่นต่อไป ถ้าหากว่าตายเสียก่อนก็เท่ากับเสียชาติเกิดไปเลยทีเดียว..!
ดังนั้น..พระภิกษุสามเณรของเรา หรือว่าบรรดาญาติโยมที่เป็นผู้สอนธรรม พึงตระหนักอยู่เสมอว่า "ผู้ฟังนั้นเป็นผู้ใหม่เสมอ" เราจะพูดอะไรก็ตาม ถ้าหากว่าแทรกบาลีหรือว่าภาษาในพระไตรปิฎกเข้าไป ก็พยายามที่จะปรับมาให้เป็นภาษาในปัจจุบันให้เขาด้วย ไม่เช่นนั้นแล้วคนฟังไม่เข้าใจ นอกจากจะนั่งหลับเสียเปล่า ๆ แล้ว อาจจะมีบางท่านที่กำลังใจยังไม่ดีพอ เกิดการปรามาสพระรัตนตรัยขึ้นมาอีก กลายเป็นโทษหนักของเขาไปโดยไม่ได้ตั้งใจ แม้ว่าเราจะไม่ได้เจตนาทำให้เขาเป็นผู้ปรามาสพระรัตนตรัย แต่เราเองนั่นแหละที่เป็นต้นเหตุให้เขาเป็นดังนั้น จึงเท่ากับว่าเราสร้างทุกข์สร้างโทษให้กับผู้อื่น
ดังนั้น..ก่อนที่จะอภิปรายขยายความในเรื่องธรรมะใด ๆ ก็ตาม ขอได้โปรดระลึกอยู่เสมอว่า "ผู้ฟังเป็นผู้ใหม่เสมอ" เป็น "ผู้ที่ยังไม่รู้อยู่เสมอ" เราในสมัยที่ไม่รู้นั้น ต้องการเนื้อหาในระดับใด เราเองก็ต้องพยายามอธิบายขยายความไปในระดับนั้น ก็จะทำให้ผู้คนส่วนใหญ่ ๙๐ เปอร์เซ็นต์ได้ประโยชน์ ถ้าหากว่ามีผู้ที่ไม่ได้ประโยชน์เพราะคิดว่าเป็นหลักธรรมที่ง่ายจนเกินไป ไม่เหมาะกับกำลังใจของเขาทั้งหลายเหล่านั้น นั่นก็เป็นคนส่วนน้อย ซึ่งเราสามารถที่จะปล่อยปละละวางไปได้ ไม่ใช่ไปปล่อยวางคนส่วนใหญ่ แล้วนำพาเอาไปเฉพาะคนส่วนน้อยเท่านั้น
สำหรับวันนี้ก็ขอเรียนถวายพระภิกษุสามเณรของเรา และบอกกล่าวแก่ญาติโยมแต่เพียงเท่านี้
พระครูวิลาศกาญจนธรรม, ดร.
เสียงธรรมจากวัดท่าขนุน
วันอังคารที่ ๒ กรกฎาคม พุทธศักราช ๒๕๖๗
(ถอดจากเสียงเป็นอักษร โดย เผือกน้อย)
__________________
........................
เกิดมาทั้งที เอาดีให้ได้ ตายไปทั้งที ฝากดีเอาไว้ อยู่ให้เขาเกรงใจ ไปให้เขาคิดถึง
จะเช มัตตา สุขังธีโร ปัญญาชน พึงสละสุขส่วนตน เพื่อสุขยิ่งใหญ่ของส่วนรวม
แก้ไขครั้งสุดท้ายโดย สุธรรม : 03-07-2024 เมื่อ 02:38
|