คราวนี้พอสมาธิทรงตัว ผลใหญ่ที่จะก่อให้เกิดก็คือปัญญา เมื่อสภาพจิตของเราสงบราบเรียบ กิเลส รัก โลภ โกรธ หลง โดนอำนาจสมาธิกดดับลงชั่วคราว สภาพจิตก็จะผ่องใสมาก สติรู้รอบ พินิจพิจารณาได้ว่าเรายังบกพร่องตรงไหน ? เราควรที่จะไปต่ออย่างไร ? สิ่งที่เราทำนี้ตรงเป้าหมายแล้วหรือไม่ ?
เรื่องพวกนี้จัดอยู่ในหมวดวิมังสาของอิทธิบาท ๔ ก็คือ มีการไตร่ตรองทบทวนอยู่เสมอ ๆ ท่านที่ศึกษาปริญญามาในด้านพระพุทธศาสนาก็จะได้ยินว่า องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าของเรานั้น พิจารณาอริยสัจโดยผ่านญาณ ๓ ก็คือสัจจญาณ รู้ตามความเป็นจริง กิจจญาณ รู้ว่าต้องประพฤติปฏิบัติอย่างไรจึงจะเข้าถึงได้อย่างแท้จริง และกตญาณ รู้ว่าขณะนี้เราเข้าถึงอย่างแท้จริงแล้ว
ดังนั้น..ในส่วนนี้ถ้าหากว่าพวกเราขาดวิมังสาในการไตร่ตรองทบทวน บางทีอาจจะหลงออกนอกทางโดยไม่รู้ตัว กระผม/อาตมภาพเองในขณะที่ปฏิบัติมา พยายามระมัดระวังเป็นอย่างยิ่ง เนื่องเพราะว่าถ้าพลาดเมื่อไร กำลังใจตก หรือที่ท่านทั้งหลายใช้คำว่าจิตตกบ้าง สมาธิตกบ้าง กรรมฐานแตกบ้าง แล้วโดน รัก โลภ โกรธ หลง กระหน่ำตีจนไม่เป็นผู้เป็นคน รู้สึกว่าเป็นเรื่องที่ทุกข์ทรมานมาก..!
แล้วกว่าที่จะกู้กำลังใจคืนมาได้ก็ยากเหลือเกิน เพราะว่าไปวางกำลังใจผิด ก็คือไปวางกำลังใจว่า "อยากจะให้ดีเหมือนเดิม" อะไรที่ขึ้นต้นด้วยคำว่า "อยาก" นี่ยากไปหมด เพราะว่าเท่ากับเราไปตั้งกำแพงขวางกำลังใจตัวเองเอาไว้ด้วยความอยาก ยิ่งอยากก็ยิ่งเข้าไม่ถึง..!
ถ้าเราสามารถปล่อยวางเป็นอุเบกขา อยู่ในลักษณะที่ว่า เรามีหน้าที่ทำ เราก็ทำให้เต็มที่ ส่วนจะเข้าถึงหรือไม่เข้าถึง จะได้หรือไม่ได้ จะเหมือนเดิมหรือไม่เหมือนเดิมนั้น..ช่างมัน ถ้าอยู่ในลักษณะนี้เราจะเข้าถึงได้ง่าย หรือว่ากลับไปสู่อารมณ์เดิมได้ง่าย แต่ว่าเรื่องทั้งหลายเหล่านี้ต้องอาศัยประสบการณ์ หกล้มหกลุกหัวร้างคางแตกมานับข้างไม่ถ้วน จนกระทั่งเราเกิดปัญญาขึ้นมาว่า ถ้าในสถานการณ์แบบนี้เราจะไปในรูปแบบใด
ดังนั้น..ที่ครูบาอาจารย์ท่านให้ไปส่งอารมณ์ ส่วนใหญ่ก็คือถ้าลูกศิษย์ติดขัดตรงไหนจะได้ชี้แจงเพิ่มเติมให้ จะได้บอกทางให้ว่าไปทางไหนง่ายกว่า สะดวกกว่า แต่ว่าครูบาอาจารย์บางท่านไปเจอลูกศิษย์ที่มาสายพุทธภูมิ ก็คือตั้งใจจะไปเป็นองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าในภายภาคหน้า ถ้าเจอแบบนั้นก็สาหัส..!
__________________
........................
เกิดมาทั้งที เอาดีให้ได้ ตายไปทั้งที ฝากดีเอาไว้ อยู่ให้เขาเกรงใจ ไปให้เขาคิดถึง
จะเช มัตตา สุขังธีโร ปัญญาชน พึงสละสุขส่วนตน เพื่อสุขยิ่งใหญ่ของส่วนรวม
แก้ไขครั้งสุดท้ายโดย สุธรรม : 19-06-2024 เมื่อ 02:44
|