ก็แปลว่าเราต้องใช้ความเพียรพยายามอย่างสูงสุดในการประพฤติปฏิบัติธรรมของเรา ตั้งเป้าเอาไว้ให้ชัดเจนว่าทำเพื่ออะไร ? แล้วตั้งหน้าตั้งตาทำไป ไม่ต้องสนใจเป้าหมายอีก
พวกเราส่วนใหญ่ที่ทำแล้วไปไม่ถึงไหน ส่วนหนึ่งก็เพราะว่าตั้งใจมากเกินไป พอถึงเวลาก็ศึกษาเรื่องของหลักธรรม การทำสมาธิต้องเป็นอย่างนี้ หายใจเข้าตามดูตามรู้เข้าไปจนสุด หายใจออกตามดูตามรู้ออกมาจนสุด
ถ้าหากว่าทำถูกวิธีการ เมื่อสมาธิเริ่มมากขึ้น ก็จะเกิดอาการปีติกับตัวเรา อย่างเช่นว่า ขนลุก น้ำตาไหล ร่างกายโยกโคลง หรือว่าลอยขึ้นทั้งตัว หรือรู้สึกตัวพอง ตัวใหญ่ ตัวรั่ว ตัวแตก ตัวระเบิด ปรากฏว่าพวกเราขยันเกินเหตุ ระหว่างปฏิบัติธรรมก็ไปนั่งจ้อง เมื่อไรจะขนลุกสักที เมื่อไรจะน้ำตาไหล เมื่อไรจะดิ้นตึงตังโครมครามสักที รอไปเถอะ..ชาติหน้าบ่าย ๆ โน่น..!
การตั้งใจเหมือนอย่างกับคนยืดคอเลยช่อง อยากจะรู้ อยากจะเห็น ไปยืดคอเลยช่อง..ก็มองอะไรไม่เห็น เพราะมีแต่ข้างฝา ถ้าไม่อยากเสียเลยก็เหมือนอย่างกับคนก้มหน้าคุดคู้ ในเมื่อยื่นหน้าไม่ถึงช่อง..ก็ไม่เห็นอีก เจริญมาก..!
พระพุทธเจ้าถึงได้ตรัสในมัชฌิมาปฏิปทา ทุกอย่างต้องพอเหมาะ พอดี พอควร ถ้าหากว่าพอเหมาะ พอดี พอควรเมื่อไรผลก็จะเกิด ไม่ต้องไปตามจ้องเลยนะ มีหน้าที่ทำอย่างเดียว ไม่ต้องสนใจว่าผลจะเกิดหรือว่าไม่เกิด เนื่องเพราะว่ากรรมฐานทุกกองถ้าไม่มีอุเบกขา เราจะเข้าไม่ถึงที่สุด
แล้วถามว่า "อุเบกขาคืออะไร ?" ก็คือ การที่เรามีหน้าที่ทำเราก็ทำไป ส่วนผลจะเกิดอย่างไร เกิดเมื่อไร จะเกิดหรือไม่..เป็นเรื่องของมัน..!
เรามีหน้าที่ทำ ผลจะเกิดหรือไม่เกิดช่างมัน เราเพาะต้นกรรมฐานลงไปแล้ว รดน้ำ พรวนดิน เติบโตขึ้นมาก็คอยระมัดระวัง ระมัดระวังแมลง คอยใส่ปุ๋ย คอยใส่ยา เดี๋ยวโตได้ขนาด ได้เวลาก็จะออกดอกออกผลเอง
__________________
........................
เกิดมาทั้งที เอาดีให้ได้ ตายไปทั้งที ฝากดีเอาไว้ อยู่ให้เขาเกรงใจ ไปให้เขาคิดถึง
จะเช มัตตา สุขังธีโร ปัญญาชน พึงสละสุขส่วนตน เพื่อสุขยิ่งใหญ่ของส่วนรวม
แก้ไขครั้งสุดท้ายโดย สุธรรม : 07-06-2024 เมื่อ 01:13
|