อีกส่วนหนึ่งที่นำมาให้ได้บูชาก็คือเขี้ยวเสือ หลวงปู่ปาน วัดบางเหี้ย หรือที่ชื่อเป็นทางการว่าวัดมงคลโคธาวาส คำว่า โคธา ในภาษาบาลีก็แปลว่าเหี้ยนั่นเอง ซึ่งกระผม/อาตมภาพก็ไม่ทราบเหมือนกัน ทำไมกลายเป็นคำหยาบไปได้ ?
หลวงปู่ปาน วัดบางเหี้ยนั้น ชื่อของท่านมีจารึกอยู่ในหนังสือเสด็จประพาสต้น ซึ่งเป็นพระราชหัตถเลขาของพระบาทสมเด็จพระปิยมหาราช ในหลวงรัชกาลที่ ๕ ในคราวที่เสด็จออกประพาสต้น ซึ่งพระองค์ท่านพบเห็นสิ่งใด ก็จดเอาไว้ในลักษณะของบันทึกประจำวัน ท่านใช้คำว่า "หลวงปู่ปานนั้น มีรูปร่างล่ำสัน สูงใหญ่ วัตถุมงคลที่ท่านทำแล้วเป็นที่ยอมรับของลูกศิษย์ลูกหามากมาย ก็คือเขี้ยวเสือ ที่แกะเป็นรูปเสือ ใหญ่บ้าง เล็กบ้าง บางขณะราคาสูงมากถึง ๑ บาท และเคยสูงไปถึง ๖ บาท..!"
คำว่า ๖ บาทในสมัยของเรานี้ราคาต่ำมาก ท่านทั้งหลายต้องเข้าใจว่า ในสมัยรุ่นโยมพ่อของกระผม/อาตมภาพนั้น ข้าวเปลือกเกวียนละ ๑ บาทเท่านั้น แล้วยุคสมัยรัชกาลที่ ๕ นั้น กระผม/อาตมภาพไม่มั่นใจว่าข้าวเปลือกเกวียนละเท่าไร แต่ถ้าหากว่าต้องจ่ายเงินถึง ๖ บาท ซึ่งเป็นราคาข้าวเปลือก ๖ เกวียน ในสมัยโยมพ่อของกระผม/อาตมภาพแล้ว เทียบกับสมัยนี้ ก็น่าจะราคาเป็นแสนจริง ๆ..!
ก็แปลว่าในยุคนั้นสมัยนั้น ญาติโยมทั้งหลายที่ประสบพบกับความขลัง ความศักดิ์สิทธิ์ของเขี้ยวเสือหลวงปู่ปาน ตลอดจนกระทั่งพระเกจิอาจารย์รุ่นหลัง ๆ ที่เป็นศิษย์หลวงปู่ปาน อย่างเช่นว่า หลวงปู่เรือน วัดบางเหี้ยก็ดี หลวงปู่สาย วัดบางเหี้ยก็ตาม หรือว่าลูกศิษย์ที่ไปอยู่วัดอื่น อย่างหลวงพ่อนก วัดสังกะสี ตลอดจนกระทั่งหลวงพ่อวงษ์ วัดปริวาส ซึ่งหลวงปู่ปาน วัดบางเหี้ย ท่านมาถ่ายทอดให้ "แบบไม่มีตัวตน" ก็ตาม ก็ล้วนแล้วแต่เป็นของขลัง ของศักดิ์สิทธิ์ ที่ลูกศิษย์ลูกหาเสาะหากันเป็นอย่างยิ่ง แต่ว่าพอมาถึงรุ่นของพวกเราท่านทั้งหลาย ก็มักจะราคาแพงสูงติดฟ้าไปเลย..!
กระผม/อาตมภาพ กว่าที่จะได้เขี้ยวเสือของแท้มา กว่าที่จะดูเป็นว่าของแท้เป็นอย่างไร ก็รับเอาของปลอมมาเสียหลายต่อหลายตัวด้วยกัน แล้วมาระยะหลัง เมื่อมีญาติโยมที่บูชาต่อ แล้วนำไปให้ในวงการพิจารณา เขาก็มักจะตีว่าปลอมไปเลย เหตุที่เป็นเช่นนั้นก็เพราะว่าบรรดาเซียนพระทั้งหลายนั้น ถ้าหากบอกว่าของแท้ ก็เกรงว่าคนอื่นจะขายของได้เงินไปแทนตนแอง ถ้าบอกว่าเป็นของปลอม ก็เป็นอันว่าจบเรื่องกัน ถ้าคนอยากได้ของแท้ ก็จะได้ไปเสาะหาจากตนเอง..!
__________________
........................
เกิดมาทั้งที เอาดีให้ได้ ตายไปทั้งที ฝากดีเอาไว้ อยู่ให้เขาเกรงใจ ไปให้เขาคิดถึง
จะเช มัตตา สุขังธีโร ปัญญาชน พึงสละสุขส่วนตน เพื่อสุขยิ่งใหญ่ของส่วนรวม
แก้ไขครั้งสุดท้ายโดย สุธรรม : 29-05-2024 เมื่อ 02:13
|