ในช่วงหน้าฝน น้ำหลากมา กลายเป็นเรื่องที่ชาวบ้านเขาดีใจกัน เพราะว่าน้ำหลากมาก็พาเอา "โอชะ" หรือที่เรียกง่าย ๆ ว่าปุ๋ยมาด้วย แล้วโดยเฉพาะชาวบ้านสมัยก่อนก็มักจะขุดบ่อหรือว่าสระน้ำ เอาไว้ในไร่ในนาของตนเอง น้ำมาก็พาปลามาด้วย ถึงเวลาน้ำลด ปลาที่ "ตกคลั่ก" อยู่ก็กลายเป็นอาหารที่กินได้ทั้งปี ไร่นาได้รับปุ๋ยจากดินที่มากับน้ำหลาก ก็กลายเป็นว่าพืชผลทุกอย่างงอกงาม
การเดินทางสมัยก่อนจึงนิยมใช้เรือมากกว่า แม้กระทั่งพระของเราก็บิณฑบาตทางเรือ วัดท่าขนุนของเราสมัยก่อน หน้าวัดหันเข้าหาแม่น้ำ ท่าเรือก็คือบริเวณกุฏิเจ้าที่ในปัจจุบันนี้ ซึ่งกระผม/อาตมภาพรื้อออกไป แล้วสร้างกุฏิขึ้นมา เหลือเพียงป้ายวัดท่าขนุน ติดเอาไว้เป็นที่ระลึกแผ่นเดียวเท่านั้น
เพียงแต่ว่าภายหลัง พอความนิยมในรถยนต์ที่เข้ามาแทนเกวียนมีมากขึ้น ถนนหนทางดีขึ้น การสัญจรทางน้ำจึงลดน้อยถอยลง มีการตัดถนนขึ้นมาใหม่ ก็มีการเปลี่ยนจากหน้าวัดเป็นหลังวัดไปเสียมาก แม้กระทั่งวัดท่าขนุนของเรา ก็มีซุ้มประตูใหม่ที่บอกว่าเป็นด้านหน้าวัด ในสมัยที่กระผม/อาตมภาพมาสร้างให้นี่เอง ก่อนหน้านั้นก็เป็นเพียงป้ายที่บอกว่ามีทางเข้าวัดจากทางบกด้วย แต่ว่าป้ายหลักก็คืออยู่ทางแม่น้ำ
โดยเฉพาะสมัยที่กระผม/อาตมภาพยังเด็กอยู่ บ้านตากับยายอยู่ที่ตำบลบางลี่ อำเภอสองพี่น้อง จังหวัดสุพรรณบุรี แถวนั้นมีพันธุ์ข้าวพิเศษที่เรียกว่า"ข้าวลอย" ก็คือต่อให้น้ำท่วมสูงเท่าไร ข้าวก็สามารถที่จะยืดลำต้น ชูรวงเหนือน้ำได้ กระผม/อาตมภาพเคยเจอปีที่น้ำท่วมมาก ๆ ข้าวลอยยืดลำต้นได้สูงถึง ๒ เมตรกว่า ชาวบ้านจะเอาฟางมาถักเป็นเชือก เพราะว่ายาวเป็นพิเศษ ไม่ต้องเสียเวลาไปต่อเส้นเชือกมาก
เพียงแต่ว่ามีจุดอ่อนอยู่ก็คือ ถ้าหากว่าถึงเวลาเก็บเกี่ยว ต้องรีบเกี่ยวให้ทัน ไม่เช่นนั้นถ้าน้ำลดลงมากเสียก่อน ข้าวลอยก็จะหักพับลงไปกับน้ำ ต้องเสียเวลาในการตากข้าวเปลือกกันนาน ปัจจุบันนี้ ไม่ทราบเหมือนกันว่าพันธุ์ข้าวแบบนี้หายไปไหนหมด เนื่องเพราะว่าระยะหลังก็ไปนิยมข้าวพันธุ์เกษตร ซึ่งมีข้าวคำ กข. โน่น กข. นี่ขึ้นมาแทน
__________________
........................
เกิดมาทั้งที เอาดีให้ได้ ตายไปทั้งที ฝากดีเอาไว้ อยู่ให้เขาเกรงใจ ไปให้เขาคิดถึง
จะเช มัตตา สุขังธีโร ปัญญาชน พึงสละสุขส่วนตน เพื่อสุขยิ่งใหญ่ของส่วนรวม
แก้ไขครั้งสุดท้ายโดย สุธรรม : 27-05-2024 เมื่อ 02:47
|