ประการต่อไปก็คือ ระยะทางในการเดินทางนั้น เกินกำลังที่จะเดินด้วยตนเอง ถ้าลักษณะอย่างนี้ การโดยสารรถในปัจจุบัน ก็ถือว่าเป็นเรื่องที่ไม่ผิดพระวินัย ยกเว้นว่าท่านทั้งหลายจะไปคิดมาก ว่าเป็นเรื่องการผิดพระวินัย แล้วไปเดินเอา ก็ตามใจท่านเถิด..!
แบบเดียวกับที่องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าทรงเว้นเอาไว้ว่า ภิกษุจักสวมรองเท้าก็ต่อเมื่อ ประการที่หนึ่ง มีบาดแผล เพราะว่าการมีบาดแผล ถ้าไม่สวมรองเท้าก็จะทำให้สกปรก อาจจะติดเชื้อได้ง่าย ประการที่สอง เท้าบาง เดินแล้วเจ็บเท้า ปัจจุบันนี้ แทบทุกรูปทุกคนก็คงจะอยู่ในหัวข้อนี้ ก็คือเท้าบาง เดินแล้วเจ็บเท้า ไม่เช่นนั้นแล้วก็ทรงอนุญาตให้สวมรองเท้าได้เฉพาะในอาราม คือเฉพาะในวัด หรืออุปจารแห่งอาราม ก็คือรอบบริเวณวัดเท่านั้น ไกลกว่านั้นไม่ให้สวมรองเท้า
แต่ครั้นมีข้ออนุญาตตรงที่ว่าเท้าบาง เดินแล้วเจ็บเท้า ก็อนุโลมว่าทุกวันนี้พวกเราส่วนใหญ่ก็เท้าบางกันทั้งสิ้น จึงสามารถที่จะสวมได้ แต่ว่าเวลาออกบิณฑบาต ซึ่งเราไม่ได้เดินทางไกลจนกระทั่งเท้าบางก็รับภาระไม่ไหว อย่างนั้นเราก็ต้องถอดรองเท้าเพื่อออกบิณฑบาต ยกเว้นหลายท่านที่ไม่ไหวจริง ๆ ก็ให้สวมรองเท้าออกบิณฑบาต แต่ว่าท่านจะต้องถอดรองเท้าในขณะที่รับบาตรทุกครั้ง ซึ่งถ้าเผลอลืมเมื่อไร ก็กลายเป็นว่าเราไม่เคารพในทานนั้น ๆ โดนอาบัติอีกต่างหาก จึงเป็นเรื่องที่ต้องระมัดระวังเป็นอย่างสูง
ในเมื่อประเด็นที่ว่าภิกษุสามารถที่จะโดยสารยานพาหนะได้แล้ว ภิกษุสามารถที่จะขับขี่ยานพาหนะนั้นได้หรือไม่ ?
ตรงจุดนี้องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าอนุญาตแค่ว่า ถ้าเป็นยานที่ใช้แรงสัตว์ในการลากจูง บุคคลผู้ขับขี่จักเป็นชายหรือเป็นหญิงก็ได้ ก็คือจักเป็นบุรุษหรือมาตุคามก็ได้ ก็แปลว่าถ้าเป็นคนขับรถ จะเป็นผู้หญิงก็ได้ จะเป็นผู้ชายก็ได้ หรือว่าถ้าเป็นยวดยานคานหาม ผู้หามจะเป็นผู้หญิงก็ได้ เป็นผู้ชายก็ได้ ไม่ได้ทรงห้าม แต่ว่าไม่ได้ทรงอนุญาตให้พระภิกษุสามเณรขับรถด้วยตนเอง เนื่องเพราะว่าจะอยู่ในลักษณะของ "อนาจาร" คือการไม่สำรวมต่อพระธรรมวินัยอย่างหนึ่ง ไม่เอื้อเฟื้อต่อพระธรรมวินัยอย่างหนึ่ง
__________________
........................
เกิดมาทั้งที เอาดีให้ได้ ตายไปทั้งที ฝากดีเอาไว้ อยู่ให้เขาเกรงใจ ไปให้เขาคิดถึง
จะเช มัตตา สุขังธีโร ปัญญาชน พึงสละสุขส่วนตน เพื่อสุขยิ่งใหญ่ของส่วนรวม
แก้ไขครั้งสุดท้ายโดย สุธรรม : 08-05-2024 เมื่อ 01:37
|