กระผม/อาตมภาพจึงใช้ถ้อยคำรุนแรงในกลุ่มไลน์ว่า "เลอะเทอะมาก" เนื่องเพราะว่าการเข้าสมาธิสมาบัติในอาเนญชาสมาธิ คำว่าอาเนญชาสมาธิ คือสมาธิที่ตั้งมั่นไม่หวั่นไหว คำว่าไม่หวั่นไหวในที่นี้ก็คือ ไม่หวั่นไหวต่อ รัก โลภ โกรธ หลง ที่เข้ามากระทบ
บุคคลที่ทรงตั้งแต่ปฐมฌานละเอียดขึ้นไป รัก โลภ โกรธ หลง ก็ไม่สามารถทำให้หวั่นไหวได้แล้ว แล้วถ้าสามารถทรงถึงฌาน ๔ ได้ ก็ยิ่งมีความมั่นคงเป็นอย่างยิ่ง จนบุคคลหลายคนที่ทรงฌาน ๔ ได้ใหม่ ๆ หลงเข้าใจผิด คิดว่าตนเองเป็นพระอรหันต์แล้ว เพราะว่า รัก โลภ โกรธ หลง โดนอำนาจของฌานสมาบัติ กดนิ่งสนิทไปเลย แต่เมื่อหลุดออกจากฌานสมาบัติเมื่อไร ก็ รัก โลภ โกรธ หลง เต็มหัวเหมือนเดิม แล้วจะมีประโยชน์อะไรในการคัดเลือกอธิการบดีของมหาวิทยาลัยสงฆ์ทั้งสองแห่ง โดยการให้ไปเข้าสมาธิแข่งกัน ?
เนื่องเพราะว่าถ้าบุคคลที่ทำได้ ทำถึงจริง ๆ ก็ไม่มีใครอยากจะแบกรับภาระ เพราะเห็นว่าแม้แต่ร่างกายนี้ก็ทุกข์เหลือทนแล้ว ต้องพยายามหลีกหนีไปให้พ้น แล้วจะไปเอางานอื่นมาให้ท่านแบก ไม่มีทางที่จะเป็นไปได้ ส่วนบุคคลที่สามารถเข้าโลกียสมาธิได้ ครั้นคลายสมาธิออกมา ก็ รัก โลภ โกรธ หลง เต็มตัวเหมือนเดิม แล้วมีประโยชน์อะไรที่จะไปนั่งเป็นตอไม้แข่งกัน ?
สำหรับท่านที่พูดมา ถ้าไปเจอบุคคลที่ทรงฌานใช้งาน ไม่ว่าจะ ยืน เดิน นั่ง นอน ดื่ม กิน คิด พูด ทำ หกคะเมนตีลังกาอย่างไรก็ทรงฌาน ๔ หรือว่าสมาบัติ ๘ ได้ ด้วยความที่ตนเองไม่รู้และเข้าไม่ถึง ก็จะไปว่าเขาไม่สามารถที่จะทรงสมาธิได้อีก ทั้ง ๆ ที่สิ่งที่เขากระทำนั้น ลักษณะเหมือนกับน้ำปากบ่อที่ลึกมาก ก็คือน้ำปากบ่อกระเพื่อมไปตามแรงลม หรือสิ่งที่มากระทบ แต่ส่วนลึกลงไปนั้น นิ่งสนิท ไม่มีหวั่นไหว ไม่มีขุ่นมัวไปตามแรงกระทบนั้น ๆ
ท่านที่ไม่เข้าใจก็จะไปว่าท่านทำไม่ได้ แล้วไปตัดสินให้ท่านแพ้อีกต่างหาก..! กระผม/อาตมภาพฟังแล้วก็ "หัวจะปวด" จึงได้ถามว่า ถ้าต้องนั่งสมาธิเป็นหัวตอแข่งกันแบบนั้น แล้วจะได้ประโยชน์อะไร ? ในเมื่อคลายสมาธิออกมาแล้ว ก็ รัก โลภ โกรธ หลง เต็มตัวเหมือนเดิม บุคคลที่จะมาเป็นอธิการบดีนั้น แค่เป็นบุคคลที่รู้จักละอายชั่ว กลัวบาป ถึงเวลาเว้นจากอคติ ๔ ได้ เข้าใจว่าหน้าที่ของตนมีอะไรบ้าง สามารถกระทำได้ถูกต้องก็เพียงพอแล้ว ไม่ได้มีความจำเป็นที่จะต้องไปนั่งสมาธิหัวตอแข่งกันแบบนั้น
__________________
........................
เกิดมาทั้งที เอาดีให้ได้ ตายไปทั้งที ฝากดีเอาไว้ อยู่ให้เขาเกรงใจ ไปให้เขาคิดถึง
จะเช มัตตา สุขังธีโร ปัญญาชน พึงสละสุขส่วนตน เพื่อสุขยิ่งใหญ่ของส่วนรวม
แก้ไขครั้งสุดท้ายโดย สุธรรม : 07-05-2024 เมื่อ 01:53
|