ดูแบบคำตอบเดียว
  #3  
เก่า 14-03-2024, 23:45
เถรี's Avatar
เถรี เถรี is offline
ผู้ดูแลเว็บ - ยืนยันตัวตนแล้ว
 
วันที่สมัคร: Jan 2009
ข้อความ: 30,696
ได้ให้อนุโมทนา: 152,038
ได้รับอนุโมทนา 4,418,127 ครั้ง ใน 34,286 โพสต์
เถรี is on a distinguished road
Default

แต่บังเอิญว่ากระผม/อาตมภาพนั้นถนัดในการเดินภาวนา ดังนั้น..ในสมัยที่ธุดงค์ ถ้าเดินอย่างสบาย ๆ ก็วันละ ๔๐ กิโลเมตร แต่ถ้าหากว่าเร่งด่วน ที่เคยเร่งเดิน ก็อย่างที่เคยเล่าเอาไว้ว่าทุ่งใหญ่ ๙๓ กิโลเมตร สามารถเดินถึงภายใน ๑๒ ชั่วโมงเท่านั้น..!

ทำให้กระผม/อาตมภาพประมาณกำลังของเด็กรุ่นใหม่ผิดไปมาก เพราะคิดว่าระยะแรกเดินจากวัดเราไปวัดวังปะโท่ แค่ ๒๖ กิโลเมตรเท่านั้น หลังจากนั้นพอเดินไปวัดนพเก้าทายิการาม และสำนักสงฆ์ถ้ำโป่งช้าง ระยะทางก็มีแต่ลดลง ๆ ด้วยความที่ประมาณการณ์ผิด พอปรึกษาหารือคณะอาจารย์ที่คุมนิสิตมาแล้ว จึงได้ลดระยะทางลง ให้เหลือวันละไม่เกิน ๑๐ กิโลเมตรเท่านั้น จึงทำให้หลายท่านสามารถที่จะเดินไปถึงก่อนอาหารมื้อเพล แต่ก็ยังมีคนเป็นลมเป็นแล้งอยู่ดี..!

เรื่องพวกนี้กระผม/อาตมภาพเคยย้ำกับบุคคลหลายคนว่า "ภูมิใจที่เกิดเป็นเด็กบ้านนอก" เพราะว่าความเป็นเด็กบ้านนอก ทำให้มีร่างกายที่แข็งแรงกว่าเด็กในเมือง เป็นความแข็งแรง แข็งแกร่ง ที่สะสมขึ้นมาวันละเล็กวันละน้อย เป็นความแข็งแรงที่เกิดจากการทำมาหากิน ไม่ใช่เกิดจากที่ไปเข้าฟิตเนส..! ในเมื่อเป็นเช่นนั้น ถึงเวลาถ้ามีอะไรที่ต้องวัดกันจริง ๆ ก็จะกลายเป็นว่า ท้ายที่สุดแล้วจะมีความอึดมากกว่าเด็กในเมืองหลายเท่า

ธุงดควัตรนั้นไปเจริญทางด้านภาคอีสาน โดยเฉพาะพระสายวัดป่าธรรมยุตของหลวงปู่มั่น ภูริทตฺโต เหตุที่เป็นเช่นนั้นก็เพราะว่า ธุดงควัตรที่บางคนบอกว่าเหมือนกับอัตกิลมถานุโยค คือการทรมานตนนั้น สำหรับบุคคลที่เป็นชาวอีสานแล้ว ด้วยความที่ดินฟ้าอากาศค่อนข้างจะโหดร้าย ทุกคนต้องต่อสู้เพื่อเอาชีวิตรอดในสถานที่แบบนั้น จึงมีทั้งกำลังกายและกำลังใจที่เข้มแข็งกว่าคนภาคอื่น หลักธรรมปกติทั่วไปแล้ว "เอาไม่อยู่" แต่เมื่อเจอความลำบากแบบธุดงควัตรเข้า กลับเหมาะกับจริตของท่านทั้งหลายเหล่านั้นพอดี จึงทำให้ธุดงควัตรไปเจริญอยู่ทางพระสายวัดป่าภาคอีสาน

แล้วในปัจจุบันนี้ นอกจากตีความคำว่าธุดงค์ผิด คิดว่าต้องแบกกลดสะพายบาตรออกเดินเท่านั้นถึงเป็นการธุดงค์ แล้วก็มีบางสำนัก มีการธุดงค์โดยเดินบนกลีบดอกไม้เสียอีก..! ก็ยิ่งห่างไกลความจริงไปใหญ่ ดังนั้น..ท่านทั้งหลายต้องเข้าใจว่า คำว่าธุดงค์ในที่นี้คือภาษาบาลีที่ว่า ธุตงฺค คือ องค์คุณความเพียรในการเผากิเลส ไม่ได้แปลว่าเดินดงเดินป่าอย่างภาษาไทย เพียงแต่การประพฤติวัตรปฏิบัติธรรมของเหล่านักธุดงค์ ไปสอดคล้องกันจนคนเข้าใจผิด นึกภาพว่าถ้าธุดงค์เมื่อไรก็ต้องเดินป่า
__________________
........................

เกิดมาทั้งที เอาดีให้ได้ ตายไปทั้งที ฝากดีเอาไว้ อยู่ให้เขาเกรงใจ ไปให้เขาคิดถึง

จะเช มัตตา สุขังธีโร ปัญญาชน พึงสละสุขส่วนตน เพื่อสุขยิ่งใหญ่ของส่วนรวม

แก้ไขครั้งสุดท้ายโดย สุธรรม : 15-03-2024 เมื่อ 02:15
ตอบพร้อมอ้างอิงข้อความเดิม
สมาชิก 33 คน ได้กล่าว "อนุโมทนา" กับคุณ เถรี ในข้อความที่เขียนด้านบน
แสดง/ซ่อน รายชื่อผู้อนุโมทนา