ดูแบบคำตอบเดียว
  #3  
เก่า 14-12-2023, 00:57
เถรี's Avatar
เถรี เถรี is offline
ผู้ดูแลเว็บ - ยืนยันตัวตนแล้ว
 
วันที่สมัคร: Jan 2009
ข้อความ: 31,421
ได้ให้อนุโมทนา: 154,231
ได้รับอนุโมทนา 4,444,541 ครั้ง ใน 35,026 โพสต์
เถรี is on a distinguished road
Default

ในเมื่อสภาพสังคมเปลี่ยนแปลงไป ไม่มีสิ่งหนึ่งประการใดคอยตีกรอบ แล้วในขณะเดียวกัน ผู้หลักผู้ใหญ่ในบ้านในเมืองก็ดี ในครอบครัวก็ตาม น้อยรายที่สามารถเป็นตัวอย่างให้กับเยาวชน หรือว่าเด็กเล็กลูกหลาน ได้ประพฤติปฏิบัติตาม เมื่อสังคมไม่เอื้ออำนวย ผู้ใหญ่ไม่สามารถเป็นตัวอย่างที่ดีได้ ก็คงต้องใช้ระยะเวลาอย่างน้อย ๒ - ๓ ชั่วคน ในการสร้างเด็กรุ่นใหม่ ให้รังเกียจการทุจริต โดยเฉพาะถ้าหากว่ากำลังใจไม่มั่นคงพอ ก็ย่อมจะโดน รัก โลภ โกรธ หลง ดึงให้ไหลตามกระแสโลกไป ก็คือบูชาเงิน หรือว่าวัตถุเป็นใหญ่ ทำให้การทุจริตเกิดขึ้นได้ง่าย

การที่ท่านทั้งหลายจะมีกำลังในการต่อต้านกระแสโลกนั้น อันดับแรกเลย เราต้องเพียรพยายามรักษาศีลทุกสิกขาบทให้บริสุทธิ์บริบูรณ์ การที่ท่านทั้งหลายตั้งหน้าตั้งตาระมัดระวังให้ศีลทุกสิกขาบทให้บริสุทธิ์บริบูรณ์นั้น ย่อมทำให้สมาธิเกิดขึ้นได้ง่าย เมื่อสมาธิเกิดขึ้น เราก็นำไปใช้พินิจพิจารณา เห็นว่าสิ่งใดก่อให้เกิดประโยชน์ สิ่งใดก่อให้เกิดโทษ ไม่ว่าจะแก่ตัวเอง ครอบครัว สังคม หรือว่าประเทศชาติ แล้วก็เลือกเอาสิ่งที่ก่อประโยชน์ ละเว้นในสิ่งที่เป็นโทษ ซึ่งหลักธรรมตรงนี้ก็คือสังวรปธาน และปหานปธาน สังวรปธานก็คือในเรื่องของการระมัดระวังป้องกัน ปหานปธานก็คือในเรื่องของการเพียรพยายามแก้ไขข้อผิดพลาด

หลังจากนั้นแล้วก็มาภาวนาปธาน ก็คือเพียรสร้างคุณงามความดีขึ้นในใจของเรา แล้วปิดท้ายด้วยอนุรักขนานุปธาน ก็คือเพียรรักษาความดีนั้น ๆ เอาไว้ เราถึงจะมีกำลังเพียงพอในการต่อต้านการทุจริต ซึ่งมีโลภะและโมหะเป็นมูลได้

เพราะว่าความโลภ โดยเฉพาะความหลงผิด เห็นว่าความร่ำรวยเป็นสิ่งที่ดีงาม แต่ไม่สนใจวิธีการที่ทำให้ตนเองร่ำรวย ถึงขนาดยอมทำการทุจริต ก็แปลว่าเราประกอบไปด้วยโมหะ ปราศจากปัญญา ยอมให้โลภะชักจูงเราไปในด้านผิดพลาด ดังนั้น..ถ้าใช้หลักปธานทั้ง ๔ ก็คือการพากเพียรป้องกัน พากเพียรแก้ไข พากเพียรสร้างสรร และ พากเพียรรักษา ก็จะทำให้เราท่านทั้งหลายมีหลักธรรมที่จะใช้ในการนำชีวิต

โดยเฉพาะอีกส่วนหนึ่งที่ลืมไม่ได้ก็คือโลกบาลธรรม ได้แก่ หิริ มีความละอายต่อความชั่ว ไม่กล้ากระทำความชั่วนั้น ๆ และโอตัปปะ เกรงกลัวผลของความชั่วนั้นจะส่งผลให้เราลำบาก เดือดร้อน จึงไม่กล้าที่จะกระทำความชั่ว ถ้าหากว่าเด็กรุ่นใหม่ของเรามีความละอายชั่วกลัวบาป รักษาศีล เจริญสมาธิภาวนา เขาย่อมมีปัญญาพอเพียงที่จะมองเห็นว่าสิ่งใดดีสิ่งใดชั่วอย่างแท้จริง และโดยเฉพาะต้องไม่เป็นคนที่ทนต่อความชั่ว เห็นสิ่งไหนเป็นสิ่งไม่ดีไม่งาม ก็ต้องรู้จักคัดค้าน ไม่เช่นนั้นแล้วถ้าเราไม่ชอบ แต่หลบห่างไปเฉย ๆ ก็ได้แค่ตัวเอง ไม่ได้แก่สังคมและประเทศชาติเลย

สิ่งทั้งหลายเหล่านี้นั้นมีประเทศญี่ปุ่นเป็นตัวอย่าง ที่ใช้ระยะเวลา ๔๐ ปี ในการสร้างเด็ก ๆ ให้มีความซื่อสัตย์ซื่อตรง ไม่เอาของคนอื่นมาเป็นของตัวเอง ไม่แสวงหาลาภที่ได้มาโดยไม่ชอบ คือการทุจริต เป็นต้น แม้ว่าจะมีปลาเน่าอยู่ไม่กี่ตัว แต่ก็ยังโดนสังคมบีบบังคับ เบียดเบียน จนกระทั่งไม่สามารถที่จะอยู่ได้ เรียกว่าถ้าหากว่าใครทุจริตคอรัปชั่นในสังคมญี่ปุ่น โดนจับได้เมื่อไร ก็หมดอนาคตไปเลย..!
__________________
........................

เกิดมาทั้งที เอาดีให้ได้ ตายไปทั้งที ฝากดีเอาไว้ อยู่ให้เขาเกรงใจ ไปให้เขาคิดถึง

จะเช มัตตา สุขังธีโร ปัญญาชน พึงสละสุขส่วนตน เพื่อสุขยิ่งใหญ่ของส่วนรวม

แก้ไขครั้งสุดท้ายโดย สุธรรม : 14-12-2023 เมื่อ 15:02
ตอบพร้อมอ้างอิงข้อความเดิม
สมาชิก 28 คน ได้กล่าว "อนุโมทนา" กับคุณ เถรี ในข้อความที่เขียนด้านบน
แสดง/ซ่อน รายชื่อผู้อนุโมทนา