และที่สะดวกยิ่งไปกว่านั้น การกำหนดเขตติจีวรวิปปวาส คือ เขตที่สามารถอยู่โดยปราศจากไตรจีวร
ซึ่งถ้าหากว่าเป็นวัดท่าขนุนของเรานั้น ทางด้านตะวันออก เรากำหนดเอาไว้ที่ขอบชายถนนหลวงสายทองผาภูมิ-สังขละบุรี ถ้าหากว่าทางด้านเหนือ ก็กำหนดเขตถนนเส้นที่เข้าบ้านวังท่าขนุนของเรา ทางด้านตะวันตกก็คือ ริมฝั่งแม่น้ำแควน้อยฝั่งวัด ทางด้านใต้ก็จะเป็นขอบลำรางสาธารณะที่เราข้ามไปบิณฑบาต ถ้าอยู่ในบริเวณนี้ทั้งหมด ภิกษุสามารถที่จะอยู่โดยปราศจากไตรจีวรได้ เพราะถือว่าผ้าไม่ขาดครอง ยังอยู่ในเขตของตน
แต่อย่าลืมว่า แม้เรากำหนดสถานที่นี้แล้วยังรู้สึกว่ากว้างใหญ่เกินไป แต่ถ้าหากว่าภิกษุที่จำพรรษาในกองเกวียน องค์สมเด็จพระบรมศาสดาสัมมาสัมพุทธเจ้ากำหนดเอาไว้ว่า เขตที่อยู่โดยปราศจากไตรจีวร หรือเขตแห่งติจีวรวิปปวาสนั้น นับตั้งแต่หัวกองเกวียนถึงท้ายกองเกวียน ญาติโยมทั้งหลายลองคิดดูว่า ถ้าขบวนเกวียน ๓๐๐ เล่ม ๕๐๐ เล่ม หัวขบวนกับท้ายขบวนบางทียาวหลายกิโลเมตร ถือว่าเป็นการสะดวกสบายสำหรับพระภิกษุที่จำพรรษาในกองเกวียน
แต่ว่าสำหรับวัดท่าขนุนของเรา แม้ว่ากำหนดเขตติจีวรวิปปวาสเอาไว้ดังที่กล่าวมาแล้วก็ตาม ถือว่าเป็นเขตในการจำพรรษาเท่านั้น พระภิกษุสงฆ์ทุกรูปต้องรักษาผ้าครอง ก็คือถึงเวลาแล้วต้องไม่ให้ผ้าพ้นตัวไป จึงได้ใช้ผ้าครองในการสวดมนต์ ทำวัตร และเจริญกรรมฐานในตอนเช้า เมื่อกลับไปถึงที่อยู่ของตนแล้ว ก็จะต้องไม่พ้นออกมาก่อนที่จะได้อรุณ
แก้ไขครั้งสุดท้ายโดย สุธรรม : 03-08-2023 เมื่อ 13:06
|