ถ้าเราดูในบุญกิริยาวัตถุ การสร้างบุญสร้างกุศลมีตั้ง ๑๐ วิธี ก็คือ
ทานมัย สร้างบุญกุศลด้วยการให้ทาน ไม่ว่าจะเป็นให้ทานแก่สัตว์ทั่วไป ให้แก่บุคคลที่ไม่มีศีล ให้แก่บุคคลที่มีศีล ให้แก่สมณชีพราหมณ์ สามารถให้ได้ทั้งนั้น
สีลมัย บุญกุศลเกิดจากการรักษาศีล จะเป็นศีล ๕ ศีล ๘ ศีล ๑๐ ศีล ๒๒๗ หรือถ้าหากว่าเป็นฆราวาส ไม่สะดวกที่จะรักษาศีล ๕ จนครบถ้วน อย่างน้อยก็ต้องมีข้อใดข้อหนึ่งที่เรายึดมั่น เพราะว่ารักษาศีลน้อย ดีกว่าไม่รักษาเสียเลย
ภาวนามัย บุญเกิดจากการเจริญสมาธิภาวนา ถือว่าเป็นบุญใหญ่ที่สุดในบุญทั้งหมดนี้ สามารถที่จะบรรเทาเบาบางอกุศลกรรมได้ดีที่สุด เนื่องเพราะว่า การให้ทาน เราทำ ๑ ได้ ๑๐๐ การรักษาศีล ทำ ๑ ได้ ๑๐,๐๐๐ การเจริญภาวนา ทำ ๑ ใน ๑,๐๐๐,๐๐๐
เหตุที่เขาเปรียบเอาไว้อย่างนี้ เพราะมีผู้อธิบายว่า ทานนั้นเราทำแค่กายก็ได้ ซึ่งความจริงถ้าใจไม่คิดจะทำ กายก็คงจะไม่ทำ แต่ท่านอธิบายไว้อย่างนี้ ศีลนั้นเรารักษาด้วยกายและวาจา อานิสงส์จึงมากขึ้นไปในลักษณะคูณร้อย แต่ภาวนาเราต้องรักษาทั้งกาย ทั้งวาจา ทั้งใจของเรา จึงต้องคูณร้อยของศีลเข้าไปอีก
บุญข้อต่อไป อปจายนมัย การอ่อนน้อมถ่อมตนต่อผู้อื่น ไม่ว่าจะเป็นผู้ใหญ่ เป็นคนเสมอกัน หรือว่าเป็นเด็ก คนที่เห็นจะเกิดความเย็นตาเย็นใจ รักใคร่เมตตาเรา เพราะเราเป็นคนอ่อนน้อมถ่อมตน เราสร้างความดีให้เกิดขึ้นกับใจคนอื่น จึงได้ผลบุญกุศลนี้ไปด้วย
เวยยาวัจมัย บุญเกิดจากการขวนขวายช่วยเหลืองานบุญคนอื่น ไม่ว่าจะเป็นการกระทำในวัดก็ดี ในบ้านก็ดี ถ้าเขาสร้างบุญสร้างกุศล เราไปช่วยหยิบช่วยจับ ไปช่วยทำความสะอาด ไปช่วยจัดสถานที่ ไปช่วยต้มยำทำแกง ไปช่วยถวายของพระ เป็นต้น
ต่อไปก็คือปัตติทานมัย บุญกุศลที่สำเร็จด้วยการอุทิศส่วนกุศลให้กับคนอื่น ส่วนใหญ่แล้วสิ่งที่เราหามาโดยยาก ทำได้โดยยาก เราก็มักจะหวงแหน แต่ในเมื่อกำลังใจของเราสามารถที่จะสละออกให้กับคนอื่นได้ การที่สละออกของเรานั่นแหละคือบุญกุศลที่เราจะได้ขึ้นมาอีกส่วนหนึ่ง
__________________
........................
เกิดมาทั้งที เอาดีให้ได้ ตายไปทั้งที ฝากดีเอาไว้ อยู่ให้เขาเกรงใจ ไปให้เขาคิดถึง
จะเช มัตตา สุขังธีโร ปัญญาชน พึงสละสุขส่วนตน เพื่อสุขยิ่งใหญ่ของส่วนรวม
แก้ไขครั้งสุดท้ายโดย สุธรรม : 28-06-2023 เมื่อ 01:54
|