ดูแบบคำตอบเดียว
  #2  
เก่า 19-11-2022, 00:57
เถรี's Avatar
เถรี เถรี is offline
ผู้ดูแลเว็บ - ยืนยันตัวตนแล้ว
 
วันที่สมัคร: Jan 2009
ข้อความ: 30,667
ได้ให้อนุโมทนา: 152,012
ได้รับอนุโมทนา 4,416,735 ครั้ง ใน 34,257 โพสต์
เถรี is on a distinguished road
Default

วันนี้ตรงกับวันศุกร์ที่ ๑๘ พฤศจิกายน พุทธศักราช ๒๕๖๕ กระผม/อาตมภาพมีภารกิจในการเข้าอบรมตามโครงการ Upskill การสอนวิชาทางพระพุทธศาสนา ซึ่งมหาวิทยาลัยมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัยดำเนินการ ดังที่ได้กล่าวเอาไว้ว่า "ทุกครั้งที่เข้า ก็ต้องมีประเด็นให้พูดถึงเสมอ"

เหตุที่เป็นเช่นนั้นก็เพราะว่าบางวิชาอย่างเช่นพระอภิธรรมปิฎก บุคคลที่เรียนแต่วิชาการนั้น โอกาสที่จะตีความให้ถูกต้อง ๑๐๐ เปอร์เซ็นต์ย่อมเป็นไปไม่ได้ ต้องเป็นบุคคลที่ผ่านการปฏิบัติมาอย่างโชกโชนเท่านั้น จึงจะสามารถตีความได้ถูกต้อง และระดับการตีความนั้นก็ยังขึ้นอยู่กับความสามารถของแต่ละท่าน ว่าท่านปฏิบัติไปถึงระดับไหน ยิ่งปฏิบัติในระดับสูงมาก ก็ตีความได้ลึกซึ้งมาก ปฏิบัติได้น้อยก็ตีความได้น้อย

ในวันนี้ผู้บรรยายได้อธิบายถึงนิมิต ๓ คือ บริกรรมนิมิต อุคคหนิมิตและปฏิภาคนิมิต โดยที่ท่านใช้คำว่า ปฏิภาคนิมิตนั้นเป็นอุปจารสมาธิ เป็นภาพติดตาเหมือนกับรูปถ่าย ตรงจุดนี้ กระผม/อาตมภาพอยากที่จะแสดงความเห็นเพื่อแลกเปลี่ยนในฐานะผู้ปฏิบัติในกสิณมาก่อน แต่ว่าทางเจ้าหน้าที่ไม่ได้เปิดไมค์ฯ ให้ ไม่สามารถที่จะแสดงความเห็นในระหว่างนั้นได้ เมื่ออธิบายไปจนจบก็เลยเวลาเพลไปมาก
แล้ว จึงไม่สามารถที่จะแลกเปลี่ยนความรู้ให้สำเร็จเสร็จสิ้นทีเดียว จนต้องมากล่าวกันในที่นี้

ในส่วนของบริกรรมนิมิตนั้นไม่มีปัญหา เพราะว่าเราลืมตามองภาพ หลับตาลงแล้วก็บริกรรมภาวนาไป อย่างเช่นว่า ถ้าเป็นภาพพระพุทธรูป ก็คือการที่เราลืมตามองภาพพระพุทธรูป หลับตาลงนึกถึงภาพนั้น พร้อมกับคำภาวนาว่า พุทโธบ้าง สัมมาอะระหังบ้าง นะมะพะธะบ้าง ตามแต่สายกรรมฐานที่ตนเองฝึกมา

ส่วนอุคคหนิมิตนั้นเป็นนิมิตเริ่มติดตา นี่ถึงจะเป็นนิมิตที่มีลักษณะเหมือนกับภาพถ่าย ก็คือสามารถลืมตาก็เห็น หลับตาก็เห็น ตรงจุดนี้จึงเป็นอุปจารสมาธิ

ในส่วนของปฏิภาคนิมิตนั้น กำลังใจเริ่มทรงตัวเป็นฌานแล้ว และภาพนิมิตก็มีการเปลี่ยนแปลงไปเรื่อย อย่างเช่นว่าจากสีเข้มเป็นสีจางลง จากสีจางลงเป็นสีขาว จากสีขาวเป็นสีใส จากสีใสเป็นสว่างเจิดจ้า

ดังนั้น..ปฏิภาคนิมิตจึงเป็นระดับของอัปปนาสมาธิตั้งแต่ระดับปฐมฌานขึ้นไปจนถึงฌาน ๔ เต็มระดับ ก็คือถ้าหากว่าเริ่มมีการเปลี่ยนแปลงของสีสันวรรณะ ก็แปลว่าท่านเริ่มเข้าสู่ปฐมฌานแล้ว และองค์สมาธิจะค่อย ๆ ดิ่งลึกลงไป ลึกลงไป

จากสีอ่อนเป็นสีจาง ก็อยู่ประมาณส่วนของทุติยฌาน คือฌานที่ ๒

จากสีจางเป็นสีขาว ก็คือในส่วนของฌานที่ ๓

จากสีขาวเริ่มเป็นสีใส ก็คือส่วนของฌานที่ ๔

เมื่อสว่างเจิดจ้า นั่นคือฌาน ๔ ละเอียด เป็นการทรงสมาธิในรูปฌานเต็มระดับ


ดังนั้น..ตรงจุดนี้ที่ท่านผู้บรรยายพยายามอธิบายไปแบบ "คิดว่า..คาดว่า..น่าจะเป็นอย่างนั้น" จึงเป็นการบรรยายแบบนักวิชาการ ไม่ใช่บุคคลที่ผ่านการปฏิบัติมาอย่างแท้จริง ที่จะสามารถบอกกล่าวได้อย่างชัดเจนกว่า
__________________
........................

เกิดมาทั้งที เอาดีให้ได้ ตายไปทั้งที ฝากดีเอาไว้ อยู่ให้เขาเกรงใจ ไปให้เขาคิดถึง

จะเช มัตตา สุขังธีโร ปัญญาชน พึงสละสุขส่วนตน เพื่อสุขยิ่งใหญ่ของส่วนรวม

แก้ไขครั้งสุดท้ายโดย สุธรรม : 19-11-2022 เมื่อ 01:55
ตอบพร้อมอ้างอิงข้อความเดิม
สมาชิก 34 คน ได้กล่าว "อนุโมทนา" กับคุณ เถรี ในข้อความที่เขียนด้านบน
แสดง/ซ่อน รายชื่อผู้อนุโมทนา