ในเมื่อเป็นเช่นนั้น การปฏิบัติธรรมที่เป็นการทวนกระแสโลก ก็เหมือนกับตัวเราว่ายทวนน้ำ ในเมื่อว่ายขึ้นมาอย่างเต็มที่แล้ว กลับไม่ได้ตั้งใจที่จะรักษาระดับเอาไว้ รามือปล่อยให้ตัวเองลอยตามน้ำไป เมื่อถึงเวลาก็ตั้งหน้าตั้งตาว่ายน้ำขึ้นมาใหม่ แล้วก็ปล่อยให้ลอยตามน้ำไปอีก ลักษณะเช่นนี้ วันแล้ววันเล่า เดือนแล้วเดือนเล่า ปีแล้วปีเล่า กลายเป็นคนที่ขยันมาก ฝึกปฏิบัติอยู่ทุกวัน แต่หาความเจริญก้าวหน้าอะไรไม่ได้เลย
ในเมื่อเข้าใจตรงจุดนี้แล้ว เราก็ต้องตั้งสติระมัดระวัง คอยประคับประคองกำลังใจของเราที่ได้จากการปฏิบัติภาวนาเอาไว้ ให้อยู่กับเราให้นานที่สุดเท่าที่จะเป็นไปได้
คำว่า ให้อยู่กับเราให้นานที่สุดเท่าที่จะเป็นไปได้ ก็คือไม่ว่าเราจะอยู่ในอิริยาบถใดคือ ยืน เดิน นั่ง นอน ดื่ม กิน คิด พูด ทำ หรือที่ภาษาบาลีเรียกว่า นวจริยา เราก็ต้องมีอารมณ์ใจที่นิ่งสงบเท่ากับตอนที่เราเจริญกรรมฐาน ไม่เช่นนั้นแล้วท่านก็จะปล่อยให้กิเลส รัก โลภ โกรธ หลง แทรกเข้ามาในใจได้ เพราะว่าทันทีที่ตาเห็นรูป หูได้ยินเสียง จมูกได้กลิ่น ลิ้นได้รส กายสัมผัส ใจก็ครุ่นคิดไปถึงไหนแล้ว
ทำอย่างไรที่เราจะรักษากำลังใจของเราให้มั่นคง อยู่กับการที่ว่า สักแต่ว่าเห็น สักแต่ว่าได้ยิน สักแต่ว่าได้กลิ่น สักแต่ว่าได้รส สักแต่ว่าสัมผัส โดยระมัดระวังไม่ให้เข้ามาสู่ใจของเราได้
ตรงนี้จึงเป็นจุดเปลี่ยนที่สำคัญที่สุดของบุคคลที่ตั้งหน้าตั้งตาปฏิบัติธรรม ท่านทั้งหลายจะก้าวหน้าหรือว่าไม่ก้าวหน้า ก้าวหน้ามาก หรือว่าก้าวหน้าน้อย ก็ขึ้นอยู่กับความสามารถของท่าน ที่จะประคับประคองรักษากำลังใจของตนนั้น เอาไว้ได้นานมากน้อยแค่ไหน
ยิ่งกำลังใจสงบมาก รักษาได้นานมาก ปัญญาก็ยิ่งเกิดมาก ท่านก็จะเห็นลู่ทางว่า ทำอย่างไรถึงจะรักษากำลังใจของตน ไม่ให้กิเลสต่าง ๆ เข้ามากินใจของเราได้
เมื่อมาถึงตรงจุดนี้แล้ว ท่านก็จะมีโอกาสในการชนะกิเลสได้บ้าง เหตุที่ใช้คำว่าชนะกิเลสได้บ้าง ก็เพราะว่ากิเลสนั้นสามารถมาได้ทุกแง่ ทุกมุม ทุกเวลา ทุกนาที ทุกวินาที กิเลสสามารถที่จะนำคนทุกคน ของทุกชิ้น สัตว์ทุกตัว มาเป็นเครื่องทดสอบของเราได้
__________________
........................
เกิดมาทั้งที เอาดีให้ได้ ตายไปทั้งที ฝากดีเอาไว้ อยู่ให้เขาเกรงใจ ไปให้เขาคิดถึง
จะเช มัตตา สุขังธีโร ปัญญาชน พึงสละสุขส่วนตน เพื่อสุขยิ่งใหญ่ของส่วนรวม
แก้ไขครั้งสุดท้ายโดย สุธรรม : 11-07-2022 เมื่อ 02:30
|